ภาชนะสามขาเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ช่วง ๕,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยได้มีการพบภาชนะสามขาทั้งในภาคตะวันตก เช่นจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ต่อเนื่องลงมาทางภาคใต้ เช่นจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการพบทั้งในประเทศจีน และมาเลเซียอีกด้วย สันนิษฐานว่าต้นกำเนิดหม้อสามขามาจากวัฒนธรรมยางเชา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่มณฑลซานซี และเหอหนานของจีน ซึ่งมีอายุช่วง ๗,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว จึงเกิดเป็นแนวคิดว่ามีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมหม้อสามขาจากดินแดนประเทศจีนส่งผ่านเข้ามาที่ดินแดนประเทศไทย และเข้าสู่ดินแดนมาเลเซียในอดีต แต่รูปแบบที่พบในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป การใช้งานของหม้อสามขามีการสันนิษฐานว่า ขาที่ต่อออกมาจากหม้อมีไว้ใช้ในการตั้งหม้อคร่อมไฟแทนการตั้งบนเสา และรูที่ขาภาชนะใช้เพื่อระบายความร้อน ลักษณะของขาภาชนะจะมีแบบขาแหลมและขาทู่ ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน
ที่มาข้อมูล
กรมศิลปากร. คนแรกเริ่มบนแผ่นดินเรา. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๕๙.
ประภาสิริ อุปเทศวิศาล. การศึกษารูปแบบภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขาจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) ภาควิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๒.
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 10932 ครั้ง)