ชื่อวัตถุ ลูกปัดหินแหล่งโบราณคดีนางย่อน
ทะเบียน ๒๗/๒๔/๒๕๕๕
อายุสมัย สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
วัสดุ(ชนิด) หินคาร์เนเลียน
แหล่งที่พบ พังงา อำเภอคุระบุรี, นางย่อน, Pit๒, ๙๐-๑๐๐cm.Dt. สำนักศิลปากรที่ ๑๕ภูเก็ต มอบให้เมื่อวันที่ ๑๐พ.ย. ๕๔
สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
“ลูกปัดหินาร์เนเลียนและอาเกต”
ลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ คือ หินคาร์เนเลียน และหินอาเกต ลูกปัดหินมีลักษณะต่างๆ กัน อาทิ ทรงกลม ทรงกลมแบน ทรงเหลี่ยม และลูกปัดทรงกระบอกฝังเส้นสี เป็นต้น
หินคาร์เนเลียนและหินอาเกตถือเป็นหินกึ่งรัตนชาติ ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ หินทั้งสองชนิดมีแหล่งวัตถุดิบอยู่ในบริเวณแคว้นเดคข่านทางตะวันตกของอินเดียอยู่ที่หมู่บ้านลิโมทราใกล้เมืองรัตนปุระ ทำให้ในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นมีแหล่งผลิตเครื่องประดับหินกึ่งรัตนชาติเกิดขึ้นหลายแหล่ง เช่น อุชเชนวิทิศา นาสิก และเตอร์ เป็นต้นหินคาร์เนเลียนของอินเดียถือเป็นหินที่มีคุณภาพดีมีสีสันสดใสเนื่องจากเกิดในชั้นทับถมของดินที่มีแร่เหล็กในปริมาณสูง และเมื่อความนิยมเครื่องประดับหินคาร์เนเลียนมีมากขึ้นอาจจะทำให้หินคาร์เนเลียนคุณภาพดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติมีไม่มากพอ ช่างชาวอินเดียจึงได้คิดค้นวิธีการหุงหินโดยการใช้ความร้อนทำให้หินมีสีส้มสดใสมากขึ้น วิธีการดังกล่าวยังใช้สืบต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน
ลูกปัดหินเหล่านี้พบจากการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีนางย่อน (ควนบางโร)จังหวัดพังงา จากการขุดค้นทางโบราณในปี พ.ศ.๒๕๕๑โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต ซึ่งสันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีเขานางย่อนน่าจะมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๕ ซึ่งพบการอยู่อาศัยไม่หนาแน่นมากนัก และพบว่ามีการใช้พื้นที่อย่างต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ ซึ่งเป็นช่วงที่มีอยู่อาศัยหนาแน่น
ในพื้นที่ภาคใต้ได้พบเครื่องประดับที่ทำจากหินคาร์เนเลียนและอาเกต อาทิ ในฝั่งอันดามันที่กลุ่มแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จังหวัดระนอง แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ฝั่งอ่าวไทยที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร และแหล่งโบราณคดีท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกตจึงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายในอดีตระหว่างอินเดียและเมืองท่าโบราณในภาคใต้ซึ่งปรากฏเด่นชัดในช่วงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์หรือในราวพุทธศตวรรษที่ ๕
เอกสารอ้างอิง
- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ลูกปัดต่างชาติในแหล่งโบราณคดีไทย,” ศิลปากร ๓๓,๑ (มีนาคม - เมษายน ๒๕๓๒):, ๑๔-๑๕.
- ผาสุขอินทราวุธ. สุวรรณภูมิจากหลักฐานทางโบราณคดี, กรุงเทพฯ: ศักดิ์โสภาการพิมพ์, ๒๕๔๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 6012 ครั้ง)