...

ลูกปัดแก้วอำพันทอง


ชื่อวัตถุ ลูกปัดแก้วอำพันทอง

ทะเบียน ๒๗/๑๓/๒๕๕๘

อายุสมัย แรกเริ่มประวัติศาสตร์

วัสดุ(ชนิด) แก้ว

แหล่งที่พบ เป็นของกลางตามคดีอาญาเลขที่ ๑๒๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๗ ของสถานีตำรวจภูธรคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.คลองท่อม สำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต มอบให้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ลูกปัดแก้วอำพันทอง”

ลูกปัดแก้วอำพันทองมีลักษณะเป็นลูกปัดทรงกลมเรียงต่อกัน ด้านนอกเป็นแก้วใส่ด้านในเป็นสีทอง ลูกปัดลักษณะนี้เรียกว่า “ลูกปัดแก้วอำพันทอง” (false gold-glass beads)

ลูกปัดแก้วอำพันทองมีที่มาจากความนิยมลูกปัดแก้วทองคำ (gold-glass bead)ซึ่งเป็นลูกปัดติดกันหลายลูกทำโดยการใช้แก้วใส ๒ ชั้นประสานกัน แก้วชั้นในมีการหุ้มแผ่นทอง (gold foil)แล้วจึงเคลือบด้วยแก้วชั้นนอก ต่อมาความนิยมในลูกปัดแก้วทองคำมีมากขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตลูกปัดลอกเลียนแบบโดยไม่ใช้แผ่นทองหุ้มลงไป แต่ทำให้ลูกปัดมีลักษณะคล้ายสีทองหรือสีอำพันเรียกว่า “ลูกปัดแก้วอำพันทอง” ซึ่งเป็นลูกปัดที่เนื้อแก้วมีความเปราะบางและอาจแตกเป็นชั้นๆ ได้ง่าย แหล่งผลิตของลูกปัดรูปแบบนี้อยู่ที่เมืองชีราฟ (Shiraf)ประเทศอิหร่าน เบเรนิเก (Berenike)ประเทศอียิปต์ ซึ่งในประเทศอินเดียได้มีการนำเข้าลูกปัดแก้วอำพันทองในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๘

ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบลูกปัดแก้วอำพันทองที่แหล่งโบราณคดีซูไงมัส (Sugai Mas)ประเทศมาเลเซีย แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก (เหมืองทอง) จังหวัดพังงา แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ จังหวัดสุราษฎ์ธานี และแหล่งโบราณคดีเพิงผาทวดตาทวดยาย จังหวัดสงขลา

สำหรับลูกปัดแก้วอำพันทองชิ้นนี้พบที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อม (ควนลูกปัด) ซึ่งเป็นเมือง- ท่าโบราณในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของภาคใต้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ ลูกปัดแก้วอำพันทองจึงถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการค้ากับต่างแดน ซึ่งลูกปัดแก้วอำพันทองคงเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าในสมัยนั้น

เอกสารอ้างอิง

- ผุสดี รอดเจริญ, “การวิเคราะห์ลูกปัดแก้วจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี ในภาคกลางของประเทศไทย.” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖.

- พรทิพย์ พันธุโกวิท และคณะ. โครงการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูล. กรุงเทพฯ : บริษัท บางกอกอินเฮ้า จำกัด, ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1631 ครั้ง)


Messenger