...

โถใส่น้ำอบ


ชื่อวัตถุ โถใส่น้ำอบ

ทะเบียน ๒๗/๔๖๗/๒๕๓๒

อายุสมัย รัตนโกสินทร์

วัสดุ เครื่องเคลือบ

ประวัติที่มา เป็นมรดกตกทอดมาจากยาย (นางถิน ประทีป ณ ถลาง)

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางภูเก็ต

“โถใส่น้ำอบ”

โถลายครามพร้อมฝา ส่วนปากและลำตัวของโถมีสีพื้นเป็นสีขาวและเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ ฝาและลำตัวโถตกแต่งด้วยลายดอกไม้และลายก้านขน ลำตัวมีหู ๔ หู

โถลายคราม เป็นที่นิยมในกลุ่มคนซึ่งอยู่อาศัยในแถบประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นกลุ่มลูกครึ่งจีนกับมลายูที่มีวัฒนธรรมผสมผสานและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่เรียกว่า “เปอรานากัน” แปลว่า “เกิดที่นี่” ส่วนในภูเก็ตเรียกคนที่มีเชื้อสายจีนผสมกับคนพื้นพื้นเมืองว่า “บาบ๋า”

“โถลายคราม”เป็นเครื่องถ้วยจีนซึ่งมีราคาที่ถูกกว่าเครื่องถ้วยลงยาสีบนเคลือบ เนื่องจากเครื่องถ้วยลายครามมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยากมากเท่าเครื่องถ้วยแบบลงยาสีบนเคลือบ มีกรรมวิธีการผลิต คือ การขึ้นรูปเครื่องถ้วยและน้ำไปเผาครั้งแรก เรียกว่า “เผาดิบ” จากนั้นตกแต่งลวดลายด้วยการเขียนลายสีน้ำเงินโดยใช้ออกไซด์ของแร่โคบอลต์ แล้วจึงนำไปชุบน้ำเคลือบและเผาซ้ำอีกครั้ง ลวดลายที่นิยมตกแต่งบนตัวภาชนะ เช่น ลายผีเสื้อ แมลง และลายดอกไม้ ๔ ฤดู คือ ดอกเหมย ดอกโบตั๋น ดอกบัว และดอกเบญจมาส

“โถลายคราม” ใบนี้เป็นมรดกตกทอดของนางถินประทีป ณ ถลาง ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต โถใบนี้จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของขาวภูเก็ตในอดีต ซึ่งนิยมนำเข้าเครื่องถ้วยจีนมาเก็บไว้ในบ้านเรือนของตน ซึ่งคงเป็นช่วงเวลาที่มีชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองแร่บนเกาะภูเก็ต ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓)

เอกสารอ้างอิง

- ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และนิสิต มโนตั้งวนพันธุ์. “เรียนรู้วัฒนธรรมเปอรานากัน (บ้าบ๋า ย่าหยา) จากเครื่องถ้วยนนยา,” วารสารนักบริหาร ๓๐, ๓ (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๓):, ๖๒– ๖๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 2300 ครั้ง)


Messenger