ชื่อวัตถุ ถ้วยน้ำจิ้ม
ทะเบียน ๒๗/๓๕๖/๒๕๓๒
อายุสมัย รัตนโกสินทร์
วัสดุ(ชนิด) กระเบื้องเคลือบสีขอบ
ประวัติที่มา ทำจากเมืองจีน มีตราที่ก้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง ได้รับมอบจากนายประชาตัณฑวนิช บ้านเลขที่ ๙๘ ถ.กระบี่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง
“ถ้วยน้ำจิ้ม”
ถ้วยน้ำจิ้ม ขอบหยักคล้ายคลื่นเขียนด้วยสีทอง ด้านในถ้วยบริเวณขอบปากตกแต่งด้วยสีต่างๆ เช่น ชมพู เขียวน้ำเงิน และส้ม เป็นต้น เป็นลายมงคลต่างๆ อาทิลายวัฏสงสารหรือปมเชือกที่ไม่สิ้นสุด จีนเรียก “ฉาง”(panchang) เป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาวและการประสานรวมกัน ลายปลาคู่ จีนเรียก “ยู”(yu) เป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ลายหอยสังข์ จีนเรียก “ลั่ว”(luo) เป็นสัญลักษณ์แทนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และลายฉัตรหรือร่ม จีนเรียก “ไก”(gai) เป็นสัญลักษณ์แทนการปกปักรักษาเป็นต้นส่วนกลางของถ้วยตกแต่งด้วยสีชมพู เขียวน้ำเงิน และส้ม เป็นต้นทำเป็นลายนกฟีนิกส์(Phoenix) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีและสง่างาม และลายดอกโบตั๋น(Peony) ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าโบตั๋นเป็นราชาแห่งหมู่มวลดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่งคั่งและเกียรติยศ ด้านนอกถ้วยบริเวณใต้ขอบปากตกแต่งด้วยสีชมพูเขียว และส้ม เป็นลายดอกไม้และใบไม้ ก้นถ้วยมีตราสี่เหลี่ยมภายในมีตัวอักษรจีนสีส้ม
เครื่องถ้วยรูปแบบนี้เรียกกันว่า “เครื่องถ้วยนนยา” (Nyonya Wares)ซึ่งคำว่า นนยา (Nyonya) เป็นคำภาษาชวาที่ยืมมาจากคำว่า “dana”ซึ่งเป็นภาษาดัชต์ หมายถึง ผู้หญิงต่างประเทศแต่งงาน ต่อมาใช้เรียกกลุ่มลูกครึ่งจีนกับมลายูที่มีวัฒนธรรมผสมผสานและสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่เรียกว่า “เปอรานากัน” แปลว่า “เกิดที่นี่” ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อาศัยในแถบประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ส่วนในภูเก็ตเรียกคนที่มีเชื้อสายจีนผสมกับพื้นเมืองว่า “บาบ๋า”
“เครื่องถ้วยนนยา” คือ เครื่องถ้วยลงยาสีบนเคลือบ เครื่องถ้วยชนิดนี้มีราคาที่แพง เนื่องจากมีขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากและมีการเผาหลายครั้ง กล่าวคือ ครั้งแรกต้องเผาด้วยอุณภูมิที่ต่ำ เรียกว่า “เผาดิบ” จากนั้นนำไปชุบน้ำเคลือบแล้วเผาอีกครั้งด้วยอุณภูมิที่สูงขึ้นแล้วจึงได้ภาชนะเคลือบสีขาวแล้วจึงนำไปลงยาสี “การลงยา” หมายถึง การนำน้ำเคลือบมาผสมกับน้ำมันการบูรซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติต่างๆ คือ ทำให้สีแห้งเร็ว สามารถละลายตัวสีให้มีความข้นพอที่จะทำให้ตัวสีติดกับผิวเคลือบ สีที่ติดบนผิวภาชนะจะสดใส มีความหนา และแข็งตัวง่ายเมื่อถูกอากาศ แล้วจึงเผาอีกครั้ง และหากมีการลงสีทองต้องมีการเผาครั้งสุดท้ายในอุณภูมิที่ต่ำกว่า ลายที่นิยมใช้ตกแต่งบนเครื่องถ้วยนนยา เช่น ลายดอกไม้ นก เป็นต้น
เครื่องถ้วยนนยาแบบที่ตกแต่งด้วยการลงยาบนสีเคลือบ มีอายุสมัยเก่าที่สุดในช่วงราชวงศ์ชิง พ.ศ.๒๓๖๔ – ๒๔๙๓ แต่ถูกผลิตมากในช่วง พ.ศ.๒๔๐๕ – ๒๔๕๑ ซึ่งตรงกับยุครัตนโกสินทร์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ซึ่งในช่วงเวลารัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นช่วงที่มีชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำเหมืองแร่บนเกาะภูเก็ต
“ถ้วยเขียนสี” หรือ “เครื่องถ้วยนนยา” ใบนี้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางรับมอบจากนายประชาตัณฑวณิช ชาวภูเก็ตซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีเชื่อชาติผสมระหว่างพื้นเมืองและจีนหรือที่เรียกว่า “บาบ๋า” เครื่องถ้วยชุดนี้ จึงเป็นหลักฐานการเข้ามาของชาวจีนในช่วงเวลารัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ และสะท้อนถึงความนิยมเครื่องถ้วยจีนในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ลวดลายบนเครื่องถ้วยยังเป็นสัญลักษณ์มงคลที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อของชาวจีนอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และนิสิต มโนตั้งวนพันธุ์. “เรียนรู้วัฒนธรรมเปอรานากัน (บ้าบ๋า ย่าหยา) จากเครื่องถ้วยนนยา,” วารสารนักบริหาร ๓๐, ๓ (กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๓):, ๖๒– ๖๗.
-The Brithish Museum. Chinese symbols. Available at: URL:https://www.britishmuseum.org/pdf/Chinese_symbols_๑๑๐๙.pdf. Accessed May ๔, ๒๐๑๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 1181 ครั้ง)