...

ครกบด


ชื่อวัตถุ ครกบด

ทะเบียน ๒๗/๓๒/๒๕๓๖

อายุสมัย รัตนโกสินทร์

วัสดุ(ชนิด) หิน

ขนาด

ส่วนบน กว้าง .๓๓เซนติเมตรสูง ๑๔เซนติเมตร
ส่วนล่าง กว้าง ๖๖เซนติเมตร สูง ๑๗.๕เซนติเมตร
สูงรวมฐาน ๓๑.๕เซนติเมตร

ประวัติ เป็นของมาดารสำหรับโม่แป้งทำขนมจีนอายุประมาณ๗๐ กว่าปีมาแล้ว เป็นของสะสมมาแต่เดิม

เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ครกบด”

แป้ง เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารไทยทั้งคาวหวานหลายชนิด เช่น ขนมจีน ลอดช่อง และบัวลอย เป็นต้น ในอดีตไม่มีแป้งสำเร็จรูปขายหากต้องการใช้แป้งจะต้อง โม่เอง อุปกรณ์ที่ใช้โม่แป้งเรียกว่า “ครกบด”

ครกบดทำมาจากหินหรือซีเมนต์ มีหลายขนาดทั้งเล็กและใหญ่ ครกบดประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ตัวครกและฝาครก“ตัวครก” อยู่ด้านล่าง ขอบยกสูงและมีแอ่งล้อมรอบ ตรงกลางเรียกว่า “ฟันครก” มีหน้าตัดเซาะเป็นร่อง กึ่งกลางตัวครกเป็นรูสำหรับใส่เดือยยึดฝาครก “ฝาครก” ด้านล่างตรงกลางมีรูสำหรับสวมเดือย หน้าตัดเซาะร่องเป็นฟันครก ด้านบนมีรูใช้ใส่ข้าวสารที่จะโม่ ด้านข้างมีช่องสี่เหลี่ยมใช้ใส่มือครก ครกขนาดเล็กมีมือครก ๑ มือ เรียก “ครกมือเดียว” ครกขนาดใหญ่มี ๒ มือ เรียก “ครกสองมือ”

วิธีการใช้ครกบด ต้องนำข้าวสารมาแช่น้ำให้พอง แล้วจึงค่อยๆ หยอดข้าวสารลงรูซึ่งอยู่ที่ปากครกและหมุดครก ข้าวสารที่ถูกบดแล้วจะค่อยๆ ลงมาที่แอ่งของตัวครก การหยอดข้าวสารต้องหยอดในบริมาณที่เหมาะสม เพราะถ้ามีข้าวมากแต่น้ำน้อยจำให้ข้นหนืดต้องหยอดน้ำช่วย แต่ถ้ามีน้ำมากกว่าข้าวแป้งก็จะเหลว และฟันครกจะเสียดสีกันทำให้ทรายหรือซีเมนต์หลุดติดมากับแป้งได้ เมื่อใช้ครกบดเสร็จแล้วจะต้องล้างให้สะอาดไม่ให้มีเศษแป้งติดอยู่ หากมีแป้งติดอยู่จะทำให้ครกบูดเน่าได้

“ครกบด” เป็นของใช้คู่ครัวไทยในอดีตซึ่งใช้ในทุกภูมิภาค ในภาคใต้แถบจังหวัดพังงา เรียกว่า “ครกสีหิน” ในปัจจุบันคนเลิกใช้ครกบดแล้วเพราะมีแป้งสำเร็จรูปขาย แต่หลายบ้านยังคงเก็บครกบดไว้ ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักและเรียนรู้วิถีชิวีตของคนในสมัยก่อนผ่านข้าวของเครื่องใช้ในอดีตอย่าง “ครกบด”

เอกสารอ้างอิง

- อุดม หนูทอง. “ครกบด.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๔๒ เล่ม ๒.กรุงเทพ : บริษัท สยามเพรส แมเนจเมนท์ จำกัด,๒๕๔๒.

(จำนวนผู้เข้าชม 3449 ครั้ง)


Messenger