...

องค์ความรู้ รัว รืง มืง สะเร็น เรื่อง "กะโน้ปติงต็อง"

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ขอนำเสนอองค์ความรู้ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๔
เรื่อง "กะโน้ปติงต็อง"

"กะโน้ปติงต็อง"
กะโน้ปติงต้อง เป็นภาษาเขมร แปลว่าตั๊กแตนตำข้าว กะโน้ปติงต็อง เป็นการละเล่นเลียนแบบลีลาการเคลื่อนไหวของตั๊กแตนตำข้าว การเต้นตั๊กแตนตำข้าวมีจังหวะลีลาที่สนุกสนาน เร้าใจ จึงทำให้การละเล่นกะโน้ปติงต็องเป็นที่นิยมทั่วไปทั้งในแถบอีสานใต้และจังหวัดใกล้เคียง
ประวัติความเป็นมา
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ นายเต็น ตระการดี ได้เดินทางเข้าไปในเขมรต่ำ หรือประเทศสาธารณรัฐกัมพูชา เพื่อไปซื้อปลาเฮาะ (ปลาร้า) นายเต็น ตระการดี ไปกับพรรคพวก ๓ - ๔ คน เดินทางโดยพาหนะ คือ เกวียนขับเป็นขบวนตามกันไปในขณะที่หยุดพักระหว่างเดินทางกลับ นายเต็นได้มองเห็นตั๊กแตนกำลังเกี้ยวกันผสมพันธุ์กันอยู่ จึงได้เฝ้าดูท่าทางของตั๊กแตนด้วยความประทับใจ เมื่อนายเต็นมาหาพรรคพวกที่ร่วมเดินทางมาด้วยกัน จึงได้ร้องเพลงกะโน้ปติงต็อง ซึ่งมีเนื้อความ ดังนี้
“โอกะโน้ปติงต้อง ซีเซลอะอังกัญ
กระมอมแดลมองซลัญ เลเตร็ดวบานแต็องกี”
แปลความว่า
“โอ้เจ้าตั๊กแตน เกาะกินใบขี้เหล็ก
สาวที่พี่รัก ต้องกลายเป็นของคนอื่นไป”
เมื่อนายเต็นเดินทางกลับมาถึงบ้าน จึงเกิดความคิดว่าถ้านำเอาลีลาการเต้นของตั๊กแตนตำข้าวมาดัดแปลงและเต้นให้คนดูก็คงดี จึงได้นำเอาแนวคิดนี้มาเล่าให้นายเหือน ตรงศูนย์ดี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกันตรึมที่เล่นกันอยู่ในหมู่บ้านรำเบอะ และหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งอยู่ในแถบ ตำบลไพล อำเภอปราสาท เมื่อไปเล่นที่ไหนเวลาต้องการให้เกิดความสนุกสนาน นายเต็นและนายเหือนจะบรรเลงเพลงกะโน้ปติงต็อง แล้วใส่เนื้อร้องให้สนุกสนาน การเต้นเลียนแบบลีลาตั๊กแตนในระยะแรกๆ เต้นอยู่ ๒ คน เต้นคู่กันเป็นตั๊กแตนตัวผู้และตัวเมีย จนเป็นที่ชอบใจของผู้ชม เพราะจังหวะลีลาการเต้นสนุกสนาน ไม่ว่าจะไปเล่นดนตรีในงานบวช งานแต่งงาน หรืองานเทศกาลต่างๆ จะนำกะโน้ปติงต็องไปเล่น
การเต้นตั๊กแตนตำข้าวในระยะแรกจึงเป็นการเต้นเพื่อความสนุกสนาน เวลานายเต็น และนายเหือนไปเล่นดนตรี เมื่อมีผู้ว่าจ้างไปเล่น จะนำท่าทางการเต้นตั๊กแตนไปเล่นประกอบทุกครั้ง จึงทำให้การเต้นตั๊กแตนตำข้าวมีคนรู้จักมากขึ้น
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในสมัยผู้ว่าเสนอ มูลศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอปราสาท ได้เห็นการเต้นกะโน้ปติงต็อง จึงมีการส่งเสริม โดยให้นายเหือน ตรงศูนย์ดี และนายยันต์ ยี่สุ่นศรี นำกะโน้ปติงต็องไปแสดงที่สวนอัมพร การนำกะโน้ปติงต็องไปแสดงครั้งนี้ เนื้อเพลงที่ใช้ร้องยังเป็นภาษาเขมรและทำนองเดียวกับที่นายเต็น และนายเหือนเล่นในระยะแรกๆ อยู่ ต่อมาในช่วงหลังได้มีการนำกะโน้ปติงต็องไปแสดงหน้าพระที่นั่งที่ตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ในการไปแสดงครั้งนั้น ได้มีการปรับเนื้อเพลงกะโน้ปติงต็องใหม่ โดยเพิ่มบทร้องภาษาไทยเข้าไป เนื้อร้องจึงมีทั้งภาษาไทยและภาษาเขมร เพื่อต้องการให้ผู้เข้าชมรู้เรื่องราว บุคคลที่แต่งเพลงประกอบในการแสดงครั้งนี้ คือ นายวิลาศ อินแปลง
หลังจากที่แสดงหน้าพระที่นั่งแล้ว ในงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติที่สนามศุภชลาศัยมีการนำกะโน้ปติงต็องไปแสดงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ต่อมามีผู้ติดต่อกะโน้ปติงต็องไปแสดงในงานชุมนุมลูกเสือนานาชาติยังต่างประเทศอีกด้วย จนเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย
จำนวนผู้แสดง
ในการแสดงกะโน้ปติงต็องแต่เดิมมีผู้แสดงเพียง ๒ คน ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาและนำไปแสดง จึงเพิ่มจำนวนผู้แสดงมากขึ้น โดยไม่จำกัดจำนวนขึ้นอยู่กับสถานที่แสดง

การแต่งกาย
ในระยะแรกเต้น ๒ คน คือ นายเต็น ตระการดี และนายเหือน ตรงศูนย์ดี จะนุ่งโสร่งสวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาวเท่าที่หาได้ในท้องถิ่นสวมใส่ ต่อมามีการพัฒนารูปแบบการแต่งกายใหม่โดยแต่งกายเลียนแบบลักษณะสีของตั๊กแตนตำข้าว ใช้ผ้าสีเขียวตัดเป็นชุดเครื่องแต่งกายให้คล้ายตั๊กแตนตัวผู้กับตัวเมีย ตั๊กแตนตัวเมียจะสวมกระโปรงสั้นทับ มีหัวกะโน้ป และปีกกะโน้ป หัวกะโน้ปทำเป็นหน้ากากสวมใส่ ส่วนปีกกะโน้ปใช้กระดาษแข็งหรือผ้าสีเขียวทำเป็นปีกกะโน้ป ถ้าเป็นผ้าก็ใช้โครงลวดแล้วขึงผ้าเขียวทับเย็บให้เรียบร้อย

เพลงและดนตรีที่ใช้ประกอบ
ดนตรีที่ใช้ประกอบเป็นวงมโหรี ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้
๑. กลองโทน ๒ ใบ (สก็วล)
๒. ปี่ใน ๑ เลา (ปี่ชลัย)
๓. ซอด้วง ๑ ตัว
๔. ซออู้ ๑ ตัว
๕. ฉิ่ง ๑ ตัว
ทำนองเพลงที่ใช้ประกอบในการเล่นกะโน้ปติงต็องใช้ทำนองเพลงกะโน้ปติงต็องระยะแรกๆ เนื้อร้องเป็นภาษาเขมร ต่อมาระยะหลังได้มีการแต่งเนื้อร้องตามงานหรือโอกาสที่ไปแสดง เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศนั้นๆ เนื้อเพลงที่ใช้มีทั้งภาษาเขมรและภาษาไทย

วิธีการแสดง
ในการแสดงจะแบ่งผู้แสดงออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย โดยสมมุติให้เป็นตั๊กแตนตัวผู้และตัวเมีย เมื่อเริ่มแสดงผู้แสดงเป็นตัวตั๊กแตนจะเต้นตามจังหวะเพลงกะโน้ปติงต็องออกมากลางเวที ผู้แสดงต้องส่ายตัวไปมาเลียบแบบลีลาของตั๊กแตนให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันผู้แสดงจะเปลี่ยนลีลาการเต้นไปตามจังหวะดนตรี และคำร้อง เพื่อให้เกิดความสวยงามตามจังหวะที่เร่งเร้าสนุกสนาน ผู้เต้นจะต้องใช้ส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือ แขน ขา ลำตัว และหน้าตาประกอบด้วยในขณะเต้น ขณะแสดงจึงมีบทร้องประกอบด้วย ส่วนมากจะใช้บทร้องในแต่ละตอนเป็นช่วงที่เปลี่ยนท่า เพราะเนื้อหาในบทร้องจะสอดคล้องกับงานแสดงนั้นๆ เช่น งานบุญประเพณีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานกฐิน งานบวชนาค ฯลฯ
ท่ารำในการรำกะโน้ปติงต็องจะมีขั้นตอน คือ เริ่มแรกจะเป็นบทไหว้ครู จะเต้นเป็นลักษณะของตัวกะโน้ปมายืนอยู่หน้าเวที อาจแปรรูปเป็นแถวรูปตัววีหรือตัวยูก็ได้ ท่าที่สองเป็นท่าตั๊กแตนเช็ดปากหลังกินอาหาร ท่าที่สามเป็นท่าป้องตาดูเหยื่อ ท่าที่สี่เป็นท่าหยอกล้อกันโดยยืนหันหน้าเข้าหาคู่แล้วใช้มือล้อกัน ท่าที่ห้าเป็นท่าสะกิดกันโดยตั๊กแตนตัวผู้จะอยู่หลังตั๊กแตนตัวเมียแล้วตั๊กแตนตัวเมียจะผงะหันหน้ามามองตั๊กแตนตัวผู้ทำท่าจะตีหรือจิกคืน ท่าที่หกเป็นท่าหยอกล้อกันแล้วเดินเข้าหากัน

อ้างอิง
: ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๐
https://www.google.com/search… xAhUHv5QKHYWGBzMQjJkEegQIBhAC&biw=1600&bih=757 (รูปภาพ)

เรียบเรียงโดย
: นายกรภัทร์ สุขใหญ่ พนักงานประจำพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร

> พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
เปิดให้เข้าชมวันพุธ – วันอาทิตย์
เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น.
ไม่มีค่าธรรมเนียมเข้าชม

Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 6166 ครั้ง)


Messenger