ประวัติและบทบาทหน้าที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ที่ตั้ง เลขที่ ๒๑๔ หมู่ ๑๓ ถนนสุรินทร์ - ช่องจอม ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ๓๒๐๐๐
โทร. ๐ - ๔๔๕๑ - ๓๒๗๒ / โทรสาร ๐ - ๔๔๕๑ - ๓๒๗๔
ประวัติ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ข้าราชการและประชาชนได้ร่วมกันรวบรวมโบราณวัตถุในจังหวัดสุรินทร์มาจัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุงและจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงดำเนินการขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์บริเวณกิโลเมตรที่ ๔ ถนนสุรินทร์-ช่องจอม เป็นสถานที่สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ และเริ่มดำเนินการปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒
การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เนื้อหาการจัดแสดง แบ่งออกเป็น ๕ เรื่อง
๑. ธรรมชาติวิทยา จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และเรื่องข้าว เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่ง
๒. ประวัติศาสตร์โบราณคดี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการของคนที่อยู่อาศัยในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงสมัยอยุธยา จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี และล้านช้าง ที่พบในจังหวัดสุรินทร์ มีการจำลองวิถีชีวิต พิธีกรรมการฝังศพครั้งที่สอง โบราณสถานจำลอง และวีดีทัศน์เรื่อง สุรินทร์ถิ่นอารยธรรมขอม เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดสุรินทร์
๓. ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ เริ่มจากสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงที่ตั้งชุมชนโบราณ พัฒนาการด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา โดยการจำลองภาพเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การจับช้างเผือก วิถีชีวิตบริเวณสถานีรถไฟ เพื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ ให้แจ่มชัดขึ้น
๔. ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ กูย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับและฝึกช้าง เขมรกลุ่มชนที่มีความโดดเด่นด้านการทอผ้า การทำเครื่องเงิน ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน และลาวกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยการจำลองบ้านเรือน วิถีชีวิต ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและสภาพความเป็นอยู่ มีคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนต์ให้ผู้ชมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
๕. มรดกดีเด่น จัดแสดงเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ การทำเครื่องประดับเงิน การทอผ้าไหม ดนตรี การแสดง การละเล่นพื้นบ้าน และวิถีชีวิตคนเลี้ยงช้างซึ่งจัดแสดงแยกส่วนในห้องสุรินทร์ดินแดนช้าง โดยมีวีดิทัศน์ประกอบการจัดแสดงแต่ละเรื่อง
การบริการ
เปิด วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ปิด วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ให้บริการนำชมเป็นหมู่คณะโดยนัดหมายล่วงหน้า นำชมโบราณสถานในจังหวัดสุรินทร์ ห้องสมุด ยืมนิทรรศการ
ภารกิจและหน้าที่การรับผิดชอบของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
๑. ดำเนินการสำรวจ และรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งแบบประเพณีร่วมสมัย และสมัยใหม่ รวมถึงวัตถุทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน และที่เป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ควบคุม ดูแล รักษา สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป
๒. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนานหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ และพัฒนาเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
๓. ประสาน สนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
๕. สำรวจ เก็บข้อมูล ประสานส่วนกลางเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๖. ดำเนินการกำกับ ควบคุม สถานประกอบการค้า การนำเข้า และการส่งออกสิ่งเทียม โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
(จำนวนผู้เข้าชม 398 ครั้ง)