เกี่ยวกับหน่วยงาน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
ที่ตั้ง เลขที่ ๒๑๔ หมู่ ๑๓ ถนนสุรินทร์ - ช่องจอม ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ๓๒๐๐๐
โทร. ๐ - ๔๔๕๑ - ๓๒๗๒ / โทรสาร ๐ - ๔๔๕๑ - ๓๒๗๔
ประวัติ
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ ข้าราชการและประชาชนได้ร่วมกันรวบรวมโบราณวัตถุในจังหวัดสุรินทร์มาจัดแสดงไว้ที่ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ และต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์เพื่อให้ประชาชนได้เข้าชม หลังจากนั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ กรมศิลปากรมีนโยบายที่จะปรับปรุงและจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงดำเนินการขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์บริเวณกิโลเมตรที่ ๔ ถนนสุรินทร์-ช่องจอม เป็นสถานที่สร้างอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ และเริ่มดำเนินการปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๙ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๕๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๒
การจัดแสดง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ เป็นสถานที่รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวของจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม เนื้อหาการจัดแสดง แบ่งออกเป็น ๕ เรื่อง
๑. ธรรมชาติวิทยา จัดแสดงเรื่องกายภาพของจังหวัดสุรินทร์ เช่น สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ลักษณะทางธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และเรื่องข้าว เนื่องจากจังหวัดสุรินทร์เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีแห่งหนึ่ง
๒. ประวัติศาสตร์โบราณคดี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการของคนที่อยู่อาศัยในจังหวัดสุรินทร์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถึงสมัยอยุธยา จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ลพบุรี และล้านช้าง ที่พบในจังหวัดสุรินทร์ มีการจำลองวิถีชีวิต พิธีกรรมการฝังศพครั้งที่สอง โบราณสถานจำลอง และวีดีทัศน์เรื่อง สุรินทร์ถิ่นอารยธรรมขอม เพื่อการเรียนรู้เรื่องราวด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะของจังหวัดสุรินทร์
๓. ประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์ จัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ของจังหวัดสุรินทร์ เริ่มจากสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดแสดงที่ตั้งชุมชนโบราณ พัฒนาการด้านการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ประชากร และการศึกษา โดยการจำลองภาพเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การจับช้างเผือก วิถีชีวิตบริเวณสถานีรถไฟ เพื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ ให้แจ่มชัดขึ้น
๔. ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ กูย กลุ่มชนที่มีความสามารถในการจับและฝึกช้าง เขมรกลุ่มชนที่มีความโดดเด่นด้านการทอผ้า การทำเครื่องเงิน ดนตรี และการแสดงพื้นบ้าน และลาวกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยการจำลองบ้านเรือน วิถีชีวิต ภาพถ่ายและภาพวาดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและสภาพความเป็นอยู่ มีคอมพิวเตอร์ทัชสกรีนต์ให้ผู้ชมค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
๕. มรดกดีเด่น จัดแสดงเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ การทำเครื่องประดับเงิน การทอผ้าไหม ดนตรี การแสดง การละเล่นพื้นบ้าน และวิถีชีวิตคนเลี้ยงช้างซึ่งจัดแสดงแยกส่วนในห้องสุรินทร์ดินแดนช้าง โดยมีวีดิทัศน์ประกอบการจัดแสดงแต่ละเรื่อง
การบริการ
เปิด วันพุธ - วันอาทิตย์ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.
ปิด วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ให้บริการนำชมเป็นหมู่คณะโดยนัดหมายล่วงหน้า นำชมโบราณสถานในจังหวัดสุรินทร์ ห้องสมุด ยืมนิทรรศการ
ภารกิจและหน้าที่การรับผิดชอบของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์
๑. ดำเนินการสำรวจ และรวบรวมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุทั้งแบบประเพณีร่วมสมัย และสมัยใหม่ รวมถึงวัตถุทางชาติพันธุ์ ทั้งที่เป็นทรัพย์แผ่นดิน และที่เป็นหลักฐานแสดงถึงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบมาเก็บรักษา ควบคุม ดูแล รักษา สมบัติทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไป
๒. ศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ และวิจัยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากหลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ผนวกกับการสืบค้นจากเอกสารและตำนานหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ และพัฒนาเป็นข้อมูลวิชาการสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิงระดับชาติและนานาชาติต่อไป
๓. ประสาน สนับสนุนในการสงวนรักษาทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติ ตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์กับสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๔. ตรวจพิสูจน์ กำหนดอายุสมัย โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และวัตถุทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ
๕. สำรวจ เก็บข้อมูล ประสานส่วนกลางเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ในความครอบครองของวัดและเอกชน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
๖. ดำเนินการกำกับ ควบคุม สถานประกอบการค้า การนำเข้า และการส่งออกสิ่งเทียม โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
(จำนวนผู้เข้าชม 398 ครั้ง)
พันธกิจของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
๑. อนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ความเป็นชาติ ด้วยการเสาะแสวงหา รวบรวม และจัดการอนุรักษ์ตามกระบวนการพิพิธภัณฑ์
๒. ศึกษาวิเคราะห์ วิจัย วัตถุพิพิธภัณฑ์ เพื่อสืบค้นข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ความเป็นไทย นำมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน
๓. พัฒนาศักยภาพให้พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว
๔. สร้างระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย
วิสัยทัศน์ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
เป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ เพื่อการเรียนรู้ในสังคม
ปรัชญา
เป็นสถาบันหลักในการสร้างทุนทางปัญญาแก่คนไทยด้านการอนุรักษ์ และสร้างสรรค์มรดกศิลปวัฒนธรรม
วัตถุประสงค์
๑. เป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์ สืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
๒. เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
๓. เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม
ยุทธศาสตร์
๑. ปกป้องคุ้มครอง และอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
๒. สืบสาน สร้างสรรค์ และเผยแพร่ความรู้ด้านมรดกทางศิลปวัฒนธรรม และวิชาการพิพิธภัณฑ์สู่สังคม
๓. บริหารจัดการ และพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม
เป้าหมาย
๑. เป็นหน่วยงานหลักในการสำรวจ สืบค้น อนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรม
๒. เพื่อเสริมสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
(จำนวนผู้เข้าชม 738 ครั้ง)