เรือมอันเร
เรือมอันเรหรือลู้ดอันเร
เรือม แปลว่า “รำ” ลู้ด แปลว่า “กระโดดหรือเต้น” อันเร แปลว่า “สาก” ฉะนั้นคำว่า เรือมอันเร หรือ ลู้ดอันเร แปลว่า “รำสาก” หรือ “เต้นสาก”
เรือมอันเรหรือลูดอันเร เป็นการละเล่นของชาวไทยเชื้อสายเขมรจังหวัดสุรินทร์ที่เล่นกันในเดือนห้า(แคแจด) ซึ่งถือเป็นวันพักผ่อนประจำปี ช่วงวันหยุดสงกรานต์มาแต่โบราณ เรียกว่า “งัยตอม” โดยถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันขึ้นปีใหม่ ชาวบ้านจะพากันหยุดทำงาน ๒ ช่วง ช่วงแรกหยุด ๓ วัน วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ เรียกว่า “ตอมตู๊จ” ช่วงที่สองหยุด ๗ วัน เรียกว่า “ตอมทม” วันแรม ๑ ค่ำถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ การหยุดในช่วงที่สองนี้ก่อนจะมีการหยุดพักผ่อน ชาวบ้านจะก่อเจดีย์ทรายที่วัดใกล้บ้าน ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ พอเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นก็จะหยุด ๗ วัน ในช่วงนี้เองเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่รักใคร่ชอบพอกันได้มาพบประกันด้วยการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า “เรือมอันเร” หรือ “ลู้ดอันเร”
เหตุที่เรียกการละเล่นนี้อีกอย่างหนึ่งว่า “ลู้ดอันเร” อาจเป็นเพราะลักษณะการร่ายรำที่สนุกสนานครื้นเครงมีท่ากระโดดโลดเต้นเข้ากับจังหวะของสากที่กระทบกันเกิดเสียงดังสนุกสนานเพราะสากตำข้าวทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พยูง ไม้ประดู่ กระทบกันจะเกิดเสียงดัง ปัจจุบันเรือมอันเร หรือลู้ดอันเร มีการพัฒนาให้เป็นรูปแบบทั้งด้านท่ารำ การแต่งกาย ตลอดจนเพลงที่ใช้ประกอบ
การเล่นเรือมอันเรในสมัยแรกๆ จะมีการจับกลุ่ม และนัดหมายกันมาเล่นในช่วงวันหยุดอาจจะเป็น ๓ วัน หรือ ๗ วัน เพื่อจะได้สนุกสนานร่วมกัน ชายหนุ่มในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงเมื่อได้ยินเสียงก็จะมาร่วมรำด้วย และถ้าต้องการใกล้ชิดสาวที่ตนรักก็จะพารำเข้าไปในสากที่กระทบกัน
การเล่นเรือมอันเรได้ถ่ายทอดสืบเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อไร ใครเป็นคนคิดริเริ่มขึ้น ต่อมาในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๔ มีการฟื้นฟูการละเล่นพื้นเมือง คือ “รำโทน” ซึ่งมีรูปแบบการเล่นที่เรียบง่าย เนื้อหาของเพลงเชิงเย้าแหย่แฝงการเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยพัฒนาการรำโทนให้เป็นแบบแผนขึ้น เพื่อชาวต่างชาติจะได้เห็นศิลปะด้านการฟ้อนรำของไทยที่งดงามแสดงออกถึงความเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม จึงให้กรมศิลปากรพัฒนาการรำโทนให้เป็นรำวงมาตรฐาน โดยประพันธ์คำร้องแต่งทำนองประดิษฐ์ท่ารำกำหนดวิธีการเล่น ตลอดจนแนะนำการแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย (จรูญศรี วีระวานิช. ๒๕๒๔ : ๙๕)
จากการปรับปรุงการรำโทนให้เป็นรำวงมาตรฐานนี้เอง ส่งผลให้การแสดงพื้นบ้านเรือมอันเรได้มีการพัฒนารูปแบบการรำขึ้นโดยนางประนอม สืบนุการ ซึ่งเคยอบรมรำวงมาตรฐานจากกรมศิลปากรในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้การเรือมอันเรพัฒนาขึ้นใหม่ทั้งด้านการแต่งกาย เพลง และท่าฟ้อนรำมีการปรับปรุงการรำให้อ่อนช้อยสวยงาม แต่ยังไม่เป็นแบบแผนเหมือนสมัยหลังๆ
ต่อมา นางวิบูลย์วรรณ จรัณยานนท์ ภรรยาศึกษาธิการจังหวัดร่วมกับภรรยาข้าราชการอื่นๆ อีกหลายท่านปรับปรุงท่าเรือมอันเรให้เป็นรูปแบบ และฝึกซ้อมให้กับข้าราชการและประชาชนเพื่อแสดงรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่เสด็จเยี่ยมพสกนิกรจังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อมา นางผ่องศรี ทองหล่อ นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ และนางสุจินต์ ทองหล่อ เป็นผู้ฝึกซ้อมเรือมอันเรเพื่อแสดงในงานช้างประจำทุกปี แรกๆ เมื่อจบแต่ละท่าผู้รำต้องหยุดรอเพลงและจังหวะใหม่ นางแก่นจันทร์ และคณะจึงปรับปรุงท่ารำแต่ละท่าโดยใช้จังหวะเชื่อมกัน และใช้ท่ารำเรือมตรุษเป็นท่าเริ่มแสดง คือการรำเดินเรียงหนึ่งมาเป็นท่าเดินออกในการแสดงเรือมอันเร (แก่นจันทร์ นามวัฒน์. ๒๕๓๑)
ผู้แสดง
ในการแสดงเรือมอันเร ผู้แสดงไม่จำกัดจำนวน การฟ้อนรำแต่เดิมฝ่ายหญิงจะรำรอบสากที่กระทบกัน ฝ่ายชายที่ยืนดูรอบๆ ถ้าใครอยากจะรำคู่กับฝ่ายหญิงคนไหนก็จะเข้าไปโค้งและขอรำคู่ด้วย ถ้าคู่ไหนรำเก่งและมีความแม่นยำในจังหวะการกระทบสากก็จะพากันรำเข้าสากในช่วงที่สากแยกออกจากกัน และรีบชักเท้าออกเมื่อสากกระทบกันตามจังหวะและท่วงทำนองในการแสดง อาจใช้ผู้รำเป็นจำนวนร้อยคนก็ได้ แต่ถ้าเป็นการแสดงในสถานที่แคบก็ใช้ผู้แสดงน้อยคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และโอกาสที่แสดง
การแต่งกาย
การแต่งกายเรือมอันเร แต่เดิมไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาก หญิงนุ่งผ้าไหมที่ทอเอง เช่นผ้าโฮล หรือซัมป็วดโฮลต่อประโบล(เชิงผ้านุ่ง) ส่วนผู้ชายนุ่งโสร่ง ต่อมามีการพัฒนาเป็นแบบเดียวกันคือ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้าถุงไหมห่มสไบเฉียงพาดไหล่รวบชายด้านข้าง ดอกไม้ทัดหู และใส่สร้อยตัว หรือสายสังวาลย์ อาจมีเครื่องประดับอื่นๆ เช่น ตุ้มหู สร้อยคอ เป็นต้น ส่วนฝ่ายชายจะสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น นุ่งโจงกระเบนผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่า ผ้ากะเนียว (ผ้าหางกระรอก) ผ้าขาวม้าไหมคาดเอว และพาดบ่า แล้วทิ้งชายผ้าไปข้างหลังทั้งสองชาย
โอกาสที่แสดง
แต่เดิมการแสดงเรือมอันเร นิยมเล่นในช่วงเดือนห้า(แคแจด) หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยและเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน ชาวบ้านจะมารวมกันในตอนค่ำ โดยใช้สถานที่ลานวัดหรือลานบ้านที่กว้างๆ แต่ในปัจจุบันเรือมอันเรจะแสดงทุกโอกาส ไม่ว่าจะเป็นงานทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ตลอดจนงานเทศกาลทั่วๆ ไป เพื่อต้อนรับแขกคนที่มาเยี่ยมเยือนหรือมาร่วมงาน
ดนตรีและเพลง
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงเรือมอันเร ประกอบด้วย โทน ๑ คู่ ปี่ใน(ปี่ฉลัย) ๑ เลา ซออู้ ๑ คัน ตะโพน ๑ ใบ ฉิ่ง ๑ คู่ กรับ ๑ คู่
นอกจากเครื่องดนตรีดังกล่าวแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบในการแสดงเรือมอันเรคือ สาก ๒ อัน ความยาวประมาณ ๒ – ๓ เมตร ทำจากไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้พยูง หรือไม้ประดู่ มีไม้หมอน ๒ อัน วางรองหัวท้ายสากความยาวประมาณ ๑.๕๐ เมตร ความสูงประมาณ ๓ – ๔ นิ้ว
เพลงที่ใช้ประกอบการแสดงเรือมอันเร
เรือมอันเรบทเพลงร้องเป็นภาษาพื้นบ้านของชาวไทยที่พูดภาษาเขมร ทำนองและจังหวะเรือมอันเรในสมัยก่อนมีเพียง ๓ จังหวะ คือ จังหวะจืงมูย จังหวะจืงปีร์ และจังหวะมลบโดง
ทำรำ
ท่ารำเรือมอันเร ส่วนมากเป็นท่าอิสระ เพื่อความสนุกสนาน เป็นท่ารำเกี้ยวพาราสี การเข้าไปรำในสากที่กระทบกัน ฝ่ายชายจะรำเดินไล่ฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงจะคอยถอยและรำตามคอยระวังไม่ให้ฝ่ายชายถูกเนื้อต้องตัว ในการฟ้อนรำต้องใส่อารมณ์ให้แสดงออกมาทางสีหน้าประกอบกับท่าฟ้อน จึงจะให้ความรู้สึกสนุกสนาน ท่ารำเรือมอันเรแต่เดิมมีเพียง ๓ ท่า คือ ท่าจืงมูย ท่ามลบโดง และท่าจืงปีร์ การตั้งชื่อท่ารำจะตั้งตามลักษณะของการเข้าสาก เช่น ท่าจืงมูย หมายถึงท่าขาเดียวในการเข้าสากหรือการนำสากในจังหวะนี้จะก้าวเข้าไปในสากทีละขา ส่วนขาอีกข้างหนึ่งแยกออกจากกันตามจังหวะของดนตรี ท่าทลบโดง หมายถึงร่มมะพร้าวลีลาการฟ้อนรำพลิ้วไหวคล้ายๆกับใบมะพร้าวกำลังโดนลมพัดเอนไปมา ท่าจืงปีร์ หมายถึงท่าสองขา การรำเข้าสากท่านี้จะเข้าไปอยู่ในสากทีละ ๒ ขา และต้องรีบชักเท้าออกให้ทันจังหวะสากกระทบ
จากเดิมท่ารำมี ๓ ท่า พัฒนาเป็น ๗ ท่า คือ ท่าเดินออก ท่าไหว้ครู ท่ากัจปกา ท่าจืงมูย ท่ามลบโดง ท่าจืงปีร์ และท่าพลิกแพลงต่างๆ โดยกลุ่มศิลปินท้องถิ่น คือนางผ่องศรี ทองหล่อ นางแก่นจันทร์ นามวัฒน์ และนางสุจินต์ ทองหล่อ
ลักษณะเด่นของเรือมอันเรอยู่ที่ความอ่อนช้อยของท่าฟ้อนรำทั้งชายหญิง ประกอบกับท่วงทำนองเพลงที่ไพเราะสนุกสนาน การเปลี่ยนท่ารำจากท่าหนึ่งไปอีกท่าหนึ่งพร้อมกับท่วงทำนองของดนตรี สอดประสานได้กลมกลืนกับจังหวะของสากที่กระทบกัน ผู้รำเข้าสากในแต่ละเพลงเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งที่ดึงดูดผู้ชม
การฟ้อนรำเรือมอันเรจะไม่กำหนดเวลาแน่นอนเหมือนการฟ้อนรำมาตรฐาน เช่น ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤษดาภินิหาร ฯลฯ เพราะการฟ้อนรำดังกล่าวเป็นการฟ้อนรำตีบทตามเนื้อร้อง ส่วนเรือมอันเรเป็นการฟ้อนรำประกอบจังหวะและท่วงทำนองเพลงที่ไม่มีเนื้อร้องไม่กำหนดเวลาแน่นอนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอย่างอื่น เช่น เวลา สถานที่ ตลอดจนผู้รำ นอกจากนี้การแสดงเรือมอันเร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีส่วนช่วยเพิ่มความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม ช่วยให้คนในชุมชนผ่อนคลายมีความบันเทิงใจ มีโอกาสได้พบปะแสดงออกตามความถนัดและความสามารถเฉพาะตัวของแต่ละคน เป็นการตอบสนองทางด้านร่างกายและจิตใจ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเรือมอันเรเป็นการฟ้อนรำที่บุคคลทั่วไปรู้จักมากที่สุด อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการฟ้อนรำที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์
เอกสารอ้างอิง
ขุนพรมประศาสน์. กาพย์ห้าแผ่นดิน ม.ป.ป.
เครือจิต ศรีบุญนาค. การฟ้อนรำของชาวไทยในเขตอำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์. ปริญญานิพนธ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ มหาสารคาม, ๒๕๓๔.
จรูญศรี วีระวานิช. คู่มือการสอนและการจัดแสดง กรุงเทพฯ : ชวินและคณะ, ๒๕๒๔
เติม วิภาคย์พจนกิจ. การฟ้อนรำของชาวไทยเขมรในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์. ปริญญานิพนธ์ ศศม.สารคาม : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๓๔
ปฐม คเนจร(หม่อมอมร วงศ์วิจิตร),ม.ร.ว. ประชุมพงศาวดารภาค ๔. กรุงเทพ:ก้าวหน้า,๒๕๐๗.
ปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ. อีสานเล่ม ๓. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๒๕
ภูมิจิต เรืองเดช.กันตรึมเพลงพื้นบ้านของชาวเขมรในจังหวัดบุรีรัมย์. โครงการศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น กรมการฝึกหัดครู,๒๕๒๘.
วิทยาลัยครูสุรินทร์. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่องเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านจังหวัดสุรินทร์. สุรินทร์ : วิทยาลัยครูสุรินทร์, ๒๕๒๖
สมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิงจังหวัดสุรินทร์. คนดีผ่องศรี ทองหล่อ กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, ๒๕๒๘
สุพรรณี เหลือบุญชู. สังคีตนิยม. คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ สหวิทยาลัยอีสานใต้ สุรินทร์,๒๕๒๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 23739 ครั้ง)