วัฒนธรรมการฝังศพทุ่งกุลาร้องไห้
วัฒนธรรมการฝังศพทุ่งกุลาร้องไห้
จากการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าภูมิภาคนี้เป็นเขตสะสมทางวัฒนธรรมที่สำคัญ มีการแบ่งเขตสะสมทางวัฒนธรรมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็น ๒ เขตใหญ่ๆ คือ แอ่งสกลนคร และ แอ่งโคราช มีเทือกเขาภูพานเป็นตัวกั้นกลาง
แอ่งโคราชมีหลักฐานทางวัฒนธรรมชัดเจน บริเวณของทุ่งกุลาร้องไห้ สภาพภูมิประเทศมีลักษณะที่โดดเด่น เรียกว่า แบบ broad depression หรือ แอ่งกระทะ เนื้อที่ทั้งหมด ๒.๑ ล้านไร่ ความยาวของทุ่งตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ
คนทุ่งกุลาร้องไห้ในอดีต แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นๆ ในเรื่องการฝังศพที่มีการนำกระดูกคนตายใส่ลงไปในภาชนะดินเผาแล้วฝังอีกครั้งหนึ่งเรียกกันว่า การฝังศพครั้งที่ ๒ (Secondary Burial)
นอกจากความพิเศษและความเป็นลักษณะเฉพาะในเรื่องประเพณีการฝังศพแล้ว ยังมีลักษณะของภาชนะดินเผาที่แตกต่างจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่น คือ ภาชนะเนื้อดินสีนวลขาว และภาชนะดินเผาที่เรียกว่า แบบร้อยเอ็ด โดยการตกแต่งผิวด้านนอกด้วยลายเชือกทาบ จากนั้นทำให้เรียบ แล้วเขียนด้วยสีแดงทับ
การประกอบพิธีกรรมการฝังศพในภาชนะดินเผา ( Burial Jar ) ลักษณะดังกล่าว นอกจากจะพบแพร่กระจายในวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้แล้ว ยังปรากฏในชุมชนโบราณทั้งในเอเชียภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ เช่น อินเดีย จีน ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และภาคพื้นหมู่เกาะ อันได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และแถบตะวันออกไกล เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ปัจจุบันยังสรุปไม่ได้ว่าประเพณีการฝังศพในลักษณะนี้เริ่มขึ้นเมื่อใด หรือแม้แต่การแลกรับวัฒนธรรมประเพณีเริ่มต้นที่กลุ่มชนใดในภูมิภาคนี้
นอกจากภาชนะดินเผาแล้ว วัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้ยังปรากฏประเพณีการฝังศพที่มีการนำกระดูกคนตายใส่ลงไปในภาชนะดินเผา และฝังอีกครั้งหนึ่ง เรียกรูปแบบนี้ว่า ประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ แบบแผนการฝังศพจะปรากฏมากมายหลายรูปแบบ เช่น ภาชนะบรรจุกระดูกทรงไข่ ทรงกลม และทรงกระบอก ซึ่งล้วนแล้วแต่จะมีฝาปิดเป็นทรงอ่าง ทรงชามขนาดใหญ่(คล้ายกระทะ) และฝาปิดเป็นแผ่นดินเผา ทรงกลม มีหูหรือด้ามจับ จะพบว่ามีการฝังรวมกันเป็นกลุ่ม ทั้งการวางภาชนะในแนวนอนและตั้งฉากกับพื้น สำหรับการฝังโดยวางภาชนะในแนวนอนนั้นจะพบการวางภาชนะเรียงต่อกันเป็นแถว(ส่วนปากภาชนะจะต่อกับส่วนก้นของภาชนะดินเผาอีกใบหนึ่ง) และแบบพิเศษที่นำภาชนะทรงกระบอกขนาดใหญ่ ๒ ใบ มีลักษณะส่วนปากประกบกันมองดูคล้ายกับ “แคปซูล”
ช่วงเวลาที่มีการแพร่กระจายของกลุ่มวัฒนธรรมทุ่งกุลาร้องไห้อย่างหนาแน่นนั้น น่าจะจัดอยู่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีเป็นต้นมา จนกระทั่งปรากฏการรับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร ซึ่งมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘
วัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่สองของจังหวัดสุรินทร์สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในแอ่งโคราช บริเวณแม่น้ำมูลตอนกลาง ซึ่งมีการค้นพบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจังหวัดแถบอำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอาจมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ และแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำชี โดยเฉพาะประเพณีการฝังศพครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นประเพณีที่แพร่หลาย และเป็นลักษณะเด่นทางวัฒนธรรมของชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำชี – มูล
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสุรินทร์ บริเวณฝั่งแม่น้ำมูล มักจะพบประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง โดยการนำกระดูกของผู้ตายมาใส่ภาชนะแล้วนำไปฝังอีกครั้ง ประเพณีความเชื่อนี้คงเกิดจากการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวก่อนแล้วจึงพัฒนาเป็นนำกระดูกใส่ภาชนะ ต่อมาเมื่อได้รับเอาพุทธศาสนาเข้ามาจึงมีพิธีการเผาศพเกิดขึ้น
ในจังหวัดสุรินทร์ ประเพณีการฝังศพครั้งที่สองพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนสวรรค์ ตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี สันนิษฐานว่าหลุมศพที่พบเหล่านี้ มีอายุราว ๒,๐๐๐ – ๑,๕๐๐ ปี โดยจัดอยู่ในกลุ่มทุ่งกุลาร้องไห้ มีความเชื่อว่า หลังจากนำศพผู้ตายไปฝังจนเนื้อหนังศพเปื่อยสลายแล้วจึงนำโครงกระดูกซึ่งอาจจะเป็นชิ้นส่วนหลักๆ ของร่างกาย มาบรรจุในภาชนะดินเผา แล้วใช้ภาชนะดินเผาอีกใบปิดทับลงไป บางไหที่พบจะบรรจุโครงกระดูกทั้งโครงลงไป ซึ่งอาจจะเป็นศพของเด็ก
จากหลักฐานที่พบจึงสามารถสันนิษฐานว่าได้มีกลุ่มคนเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มาตั้งแต่สมัยยุคเหล็ก (ประมาณ ๒,๕๐๐ ปี) และได้อาศัยสืบต่อกันมา จนพัฒนาขึ้นเป็นสังคมที่ซับซ้อนภายหลัง
บรรณานุกรม
ศิลปากร กรม รายงานเบื้องต้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีในทุ่งกุลาร้องไห้ (เล่ม ๑ – ๒) พ.ศ.๒๕๔๔
ศิลปากร กรม นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรุงเทพมหานคร : บริษัท อทรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๐
(จำนวนผู้เข้าชม 4451 ครั้ง)