พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ นำเที่ยวปราสาทศีขรภูมิ
ปราสาทศีขรภูมิ
ที่ตั้ง บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
อายุสมัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และบูรณะปฏิสังขรณ์ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓
รายละเอียด ปราสาทศีขรภูมิ ก่อสร้างด้วยอิฐ หินทราย และศิลาแลง ประกอบด้วย ปราสาทอิฐ ๕ องค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยมีปราสาทประธาน ๑ องค์อยู่ตรงกลาง และมีปราสาทบริวาร ๔ องค์ ล้อมอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน และมีสระน้ำล้อมรอบเว้นทางเข้าด้านหน้าด้านหลัง
ปราสาทประธาน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ไม่มีมุขยื่น มีประตูทางเข้า-ออกด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ทับหลังแกะสลักจากหินทรายรูปศิวนาฏราชบนแท่น มีรูปหงส์แบก ๓ ตัวอยู่เหนือเศียรเกียรติมุข มีรูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมาอยู่ด้านล่าง ส่วนเสาประดับกรอบประตูสลักเป็นลายเทพธิดา ลายก้ามปู และรูปทวารบาล ส่วนบริเวณหน้าบันเป็นอิฐประดับลวดลายปูนปั้น
ปราสาทบริวาร มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีประตูทางเข้า-ออกด้านทิศตะวันออกด้านเดียว พบทับหลัง ๒ ชิ้น สลักด้วยหินทราย ชิ้นที่หนึ่งสลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับช้างและคชสีห์ ชิ้นที่สองสลักเป็นภาพพระกฤษณะประลองกำลังกับคชสีห์ ส่วนปราสาทบริวารองค์ด้านหน้าขวาของปราสาทประธานพบจารึกหินทรายบนผนังกรอบประตู เป็นจารึกอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย-บาลี กล่าวถึงเรื่องราวของกลุ่มพระเถระผู้ใหญ่และท้ายพระยา ร่วมกันบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานแห่งนี้
ปราสาทศีขรภูมิ เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และต่อมาคงมีการดัดแปลงให้เป็นวัดในพุทธศาสนา ตามที่มีหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย จากลักษณะลวดลายบนเสาประดับกรอบประตูและทับหลัง ปราสาทศีขรภูมิอยู่ในศิลปะขอมแบบบาปวน (พ.ศ.๑๕๖๐ – ๑๖๓๐) และแบบนครวัด (พ.ศ.๑๖๕๐ – ๑๗๒๐)
ปัจจุบันปราสาทศีขรภูมิได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากรแล้ว โบราณวัตถุที่พบนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ อาทิ ทับหลังรูปพระกฤษณะทั้ง ๒ ชิ้น กลีบขนุน รวมถึงแบบจำลองปราสาท
เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๘.๐๐ น.
อัตราค่าเข้าชม
ชาวไทย ๑๐ บาท
ชาวต่างชาติ ๕๐ บาท
การเดินทาง จากจังหวัดสุรินทร์ทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ ระยะทาง ๓๖.๕ กิโลเมตร
(จำนวนผู้เข้าชม 18079 ครั้ง)