ช้างแฝดเพศผู้คู่แรกของโลก
ช้างแฝดเพศผู้คู่แรกของโลก
เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่ทำให้ชาวสุรินทร์และชาวไทยทั้งประเทศมีความสุขและปลาบปลื้มใจ เป็นที่สุดก็คงเป็นการให้กำเนิดช้างแฝดเพศผู้คู่แรกของโลก จากแม่ช้างชื่อพังทองคูณ อายุ ๒๖ ปี ซึ่งเป็นช้างของนายประไพ โมกหอม บ้านเลขที่ ๑๕๒ หมู่ ๓ บ้านท่าลาด ตำบลศรีณรงค์ อำเภอชุมพลบุรี ช้างแฝดเพศผู้คู่นี้เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๓ แฝดพี่ชื่อพลายทองคำ เกิดเวลา ๐๓.๐๙ น. และแฝดน้องชื่อพลายทองแท่ง เกิดเวลา ๐๑.๐๙ น. โดยแฝดน้องคลอดออกมาก่อน ปัจจุบันได้มาอาศัยอยู่ที่ศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
สำหรับจังหวัดสุรินทร์เคยมีช้างแฝดมาแล้วเมื่อ ๑๕ ปีที่ผ่านมา เป็นช้างเพศเมียชื่อ พังจุ๋ม และพังจิ๋ม เจ้าของชื่อป้าเหลือง (คนที่เดินทางไปกับรถบรรทุกช้างชื่อพังกำไลที่รถพลิกคว่ำจนป้าเหลืองเสีย ชีวิต และพังจุ๋มตาย ส่วนพังจิ๋มยังไม่ตาย ปัจจุบันอยู่ที่สวนสัตว์เขาเขียว และพังจิ๋มก็ตกลูกเมื่อเร็วๆ นี้
ข้อมูลที่น่ารู้เกี่ยวกับช้างไทย
ช้าง ช้างเป็นสัตว์บกเลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อายุช้าง ช้างมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๘๐ ปี
น้ำหนักช้าง ช้างเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ กิโลกรัม/เชือก
ส่วนสูงช้าง ช้างเมื่อโตเต็มที่จะมีความสูงเฉลี่ยประมาณ ๘ – ๙ ฟุต(ประมาณ ๒.๕ เมตร)
ช้างกินอาหาร ช้างจะกินอาหารประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว/เชือก/วัน หรือประมาณวันละ ๒๐๐ – ๔๐๐ กิโลกรัมต่อเชือก
ช้างนอน ช้างจะหลับนอนเพียงวันละ ๓ – ๔ ชั่วโมงเท่านั้น อีก ๒๐ ชั่วโมงจะใช้เวลาในการออกหากินในเวลา ๑ วัน
ช้างต้องการน้ำ ช้างจะกินน้ำวันละประมาณ ๖๐ แกลลอน หรือ ๑๕ ปี๊บ/วัน
เริ่มผสมพันธุ์ ช้างเริ่มผสมพันธุ์ เมื่ออายุประมาณ ๑๓ – ๑๕ ปี จนถึงอายุ ๕๐ ปี
ฤดูกาลผสมพันธุ์ ช้างจะผสมพันธุ์ไม่เป็นฤดูกาล สุดแท้แต่โอกาสและบรรยากาศแวดล้อม
การผสมพันธุ์ ช้างตัวผู้จะขึ้นทับตัวเมียครั้งหนึ่งใช้เวลา ๓๐ – ๖๐ วินาที และใช้เวลาในการผสมพันธุ์จริงๆ(สอดเครื่องเพศ) เพียง ๑๐ – ๑๕ วินาทีเท่านั้น
การเป็นสัด ช้างตัวเมียจะเป็นสัดปีละ ๓ – ๔ รอบ (ถ้าไม่มีการตั้งท้อง) เป็นสัดครั้งหนึ่งอยู่นาน ๒ – ๘ วัน (เฉลี่ย ๔ วัน)
ช้างตั้งท้อง ช้างจะตั้งท้องนานประมาณ ๑๘ – ๒๒ เดือน (ลูกช้างตัวผู้จะอยู่ในท้องนานกว่าลูกช้างตัวเมีย)
การตกลูก ปกติช้างจะตกคราวละ ๑ ตัว อาจมีแฝดได้
ระยะเวลาการมีลูก เมื่อช้างออกลูกมาแล้วจะดูแลและอยู่ร่วมกันกับแม่ประมาณ ๓ ปี แล้วแม่ช้างจึงจะเริ่มผสมพันธุ์ อีกครั้งหนึ่ง รวมระยะเวลา ๕ ปี กว่าแม่ ช้างจะมีลูกแต่ละครั้ง ดังนั้น แม่ช้าง ๑ เชือกตลอดชีวิตจะตกลูกได้ ๔ - ๖ ตัว
ลึงค์ ลึงค์หรืออวัยวะสืบพันธุ์ช้าง ช้างตัวผู้จะมีลึงค์ยาวประมาณ ๑ – ๒ เมตรในสภาพปกติ และยาว ๒ – ๒.๕ เมตร ขณะแข็งตัวเต็มที่ และจะ โค้งงอเป็นรูปตัว “ S”
ลูกอัณฑะช้าง ช้างตัวผู้จะมีลูกอัณฑะอยู่ในช่องท้องใกล้ๆ กับไต เมื่อโตเต็มวัยลูกอัณฑะจะมีน้ำหนัก ๑ – ๔ กิโลกรัม
อากาศที่ช้างชอบ ปกติช้างชอบอยู่ในป่าดงดิบทึบ มีอากาศร่มเย็น อุณหภูมิประมาณ ๑๘ – ๒๐ องศาเซลเซียส ไม่ชอบอากาศร้อนจัด
การตกมัน ช้างพลายและช้างพังที่โตเต็มวัยหรือเรียกว่าอยู่ในวัยฉกรรจ์ ซึ่งมีอายุระหว่าง ๑๕ – ๘๐ ปี ถ้า มีร่างกายอ้วนท้วนแข็งแรงสมบูรณ์มีโอกาส ตกมันได้ตลอด (บางเชือกขณะตกมันจะมีนิสัยดุร้ายและจำเจ้าของไม่ได้)
ระบบปราสาท ช้างจะรับรู้ทางระบบประสาทตาประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่จะมีระบบการรับรู้ จำเสียง จำกลิ่นได้เป็นอย่างดี
ผิวหนัง ช้างจะมีผิวหนังหนาประมาณ ๑.๙ – ๓.๒ เซนติเมตร
การเต้นของหัวใจ ท่ายืน ๒๕ – ๓๐ ครั้งต่อนาที
ท่านอนตะแคง ๗๒ – ๙๘ ครั้งต่อนาที
ขณะออกกำลัง ๖๐ ครั้งต่อนาที
อัตราการหายใจ ช้างหายใจ ๔ – ๖ ครั้งต่อนาที
อุณหภูมิในร่างกาย ปกติอุณหภูมิในร่างกายช้างประมาณ ๓๖ – ๓๗ องศาเซลเซียส
ฟันช้าง ตลอดชีวิตของช้างจะมีฟันกรามถึง ๖ ชุด
ซี่โครงช้าง ช้างมีซีโครงจำนวน ๑๙ คู่
ข้อกระดูกหาง ช้างมีข้อกระดูกหาง ประมาณ ๒๖ – ๓๓ ข้อ
เล็บเท้าช้าง เท้าหน้าของช้างมี ๕ เล็บ
เท้าหลังของช้างมี ๔ เล็บ
หมายเหตุ : ศัพท์นิยม
ลักษณะนามของช้างป่าใช้ ตัว
ลักษณะนามของช้างบ้านใช้ เชือก
ลักษณะนามของการรวมกลุ่มเป็นหมู่ของช้างป่าใช้ ฝูง
ลักษณะนามของการรวมกลุ่มเป็นหมู่ของช้างบ้านใช้ โขลง
(จำนวนผู้เข้าชม 14598 ครั้ง)