...

ภาพจำลองมาจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ “แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์ แม่มาแต่เมืองทิ้ง (พระ)”
เปิดประวัติ !! พรีเซนเตอร์แห่งเรือนพระยาสุนทรานุรักษ์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ !!
เชื่อว่าหลายท่านเคยผ่านตาภาพหญิงสาว 4 คน ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้นำมาใช้ในการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์หรือข้อมูลต่าง ๆ และอาจมีความสงสัยว่า แม่จ๊ะแม่จ๋า ทั้ง 4 นาง มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้จึงขอนำเสนอองค์ความรู้พิเศษเพื่อเปิดเผยที่มาของสาวงามทั้ง 4 
……………………………………………………………
“แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์ แม่มาแต่เมืองทิ้ง (พระ)”  
ภาพที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา นำมาใช้ประชาสัมพันธ์ เป็นภาพจำลองมาจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ทิ้งพระ เป็นการเรียกแบบย่อในภาษาถิ่นใต้ หมายถึงเมืองสทิงพระ เมืองที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปี ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีแสดงถึงการตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาเป็นชุมชนต่อเนื่องกันมาหลายช่วงสมัย มีการรับอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรมจากโลกภายนอกในระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเจริญขึ้นเป็นเมืองที่มีอำนาจเป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยมีศูนย์กลางการปกครองเมืองอยู่ในบริเวณตำบลจะทิ้งพระ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในบริเวณนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ศิวลึงค์และฐานโยนี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นต้น ปัจจุบันมีโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เช่น วัดราชประดิษฐ์ (วัดพะโคะ) วัดดีหลวง เขาคูหา วัดสนามไชย และวัดจะทิ้งพระ ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นด้าน อันเป็นต้นกำเนิดของภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญ 
วัดจะทิ้งพระ ตั้งอยู่ในเขตตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีภูมิประเทศเป็นเนินทรายและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ นับเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นวัดคู่เมืองสทิงพระมาแต่โบราณ ตามตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1542 ต่อมาถูกโจรสลัดมลายูทำลายไป กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2153) จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ตามหลักฐานเอกสารกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาระบุว่า วัดจะทิ้งพระในสมัยนี้แยกออกเป็น 2 วัด คือ วัดสทิงพระ กับวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้อง ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ภายหลังในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 จึงได้รื้อกำแพงกั้นกลางระหว่างวัดออกรวมเป็นวัดเดียว 
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดจะทิ้งพระ ประกอบด้วย 1.เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ รูปแบบเดียวกับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากลังกา 2. เจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นทรงลังกา 3. วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วิหารพ่อเฒ่านอน” ภายในประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ และเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ 4. หอระฆัง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับลวดลายปูนปั้น รูปหน้าหนังตะลุง ที่แสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง 
วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเดิมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาภายหลังมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5  ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน มีการเรียกขานกันว่า “พ่อเฒ่านอน” ที่ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยรายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ เมื่อปี 2523 ระบุว่า ผู้เขียนภาพมี 3 คน คือ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) อดีตเจ้าอาวาส นายเคลื่อน และลูกมือนายช่างใบ้ ได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้ลบเลือนไปเกือบหมด คงเหลือให้เห็นเพียงด้านทิศตะวันออก ทั้งนี้ รายงานการสำรวจฯ ยังระบุว่าตำแหน่งภาพเขียนเริ่มจากด้านพระเศียรจรดพระบาท และบริเวณด้านหลังพระประธาน ส่งผลให้ภาพจิตรกรรมนี้มีลักษณะเป็นฉากหลังพระ ประกอบด้วยพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 
จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านเศียรของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดา และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างแสดงภาพพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนที่พากันมาร่วมทำบุญตักบาตร ถวายดอกบัว เรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญถูกสอดแทรกอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนด้านล่างสุดเป็นฉากนรกภูมิ ซึ่งรายละเอียดของภาพจิตรกรรมในด้านนี้เผยให้เห็นโลกทั้ง 3 อันได้แก่ สวรรค์ โลก และนรก ดังคำกล่าวในพุทธประวัติว่าวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเปิดโลกทั้ง 3 คือ เทวโลก มนุษยโลก และยมโลก จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศใต้ แสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ รับข้าวมธุปายาส และธิดามารยั่วยวน ขณะที่จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตก แสดงภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย 
 จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะการเขียนภาพบนพื้นสีเหลืองอ่อน เขียนด้วยสีขาว เทา ฟ้า และเขียว ซึ่งการใช้สีดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นวัตถุประสงค์ของช่างที่ต้องการให้ภาพเขียนมีความสว่างสดใส ขณะเดียวกันอาจช่วยให้ภายในวิหารมีความสว่างมากขึ้นได้
โดยหนึ่งในลักษณะโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้คือการสอดแทรกภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมและสังคมในสมัยนั้น อาทิ การแต่งกายของชาวบ้าน ผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อ มีทั้งนุ่งผ้าลอยชายหรือโสร่ง และนุ่งโจงกระเบนปะปนกัน ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าในลักษณะเดียวกัน ห่มผ้าแถบพาดไปด้านหลัง ชายสองข้างพาดไขว้ปิดหน้าอก และภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอก ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการแต่งกายที่ทั้งหญิงและชายในสมัยก่อนนิยมเปลือยอก แต่หากต้องเข้าศาสนสถานอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะให้ความเคารพด้วยการนุ่งห่มปกปิดหน้าอกอย่างเรียบร้อย ภาพหญิงสาวที่ปรากฏจึงเป็นการตรวจสอบความเรียบร้อยของตนเองก่อนเข้าวัด   
……………………………………………………………
เรียบเรียง/ กราฟฟิก: นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 
อ้างอิง: 
1. กรมศิลปากร.  รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ:  กรมศิลปากร,  2523. 
2. กรมศิลปากร.  หนังสือนำชมโบราณสถานที่สำคัญในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้.  สมุทรสาคร: บางกอกอินเฮ้าส์,  2557.
3. วรรณิภา ณ สงขลา. “จิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 4 (2542): 1617-1620.
4. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร.  ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา : ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2539
5. สกรรจ์ จันทรัตน์ และสงบ ส่งเมือง.  การเริ่มต้นและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองเก่าสงขลา.  กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร,  2534. 
6. สงบ ส่งเมือง.  “จะทิ้งพระ, วัด”  สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 3 (2542): 1475-1479.
7. สุวรรณี ดวงตา.  “ภาษากายจากจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างสงขลาที่วัดโพธิ์ปฐมาวาส อำเภอเมืองสงขลา วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ และวัดคูเต่า อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา” ศิลปะนิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,  2551. 
8. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.เปิดประวัติ !! พรีเซนเตอร์แห่งเรือนพระยาสุนทรานุรักษ์ที่กำลังมาแรงในขณะนี้ !!
เชื่อว่าหลายท่านเคยผ่านตาภาพหญิงสาว 4 คน ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ได้นำมาใช้ในการออกแบบป้ายประชาสัมพันธ์หรือข้อมูลต่าง ๆ และอาจมีความสงสัยว่า แม่จ๊ะแม่จ๋า ทั้ง 4 นาง มาจากไหน มีความเป็นมาอย่างไร วันนี้จึงขอนำเสนอองค์ความรู้พิเศษเพื่อเปิดเผยที่มาของสาวงามทั้ง 4 
……………………………………………………………
“แม่ไม่ได้มาแต่เมืองทิพย์ แม่มาแต่เมืองทิ้ง (พระ)”  
ภาพที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา นำมาใช้ประชาสัมพันธ์ เป็นภาพจำลองมาจากจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ทิ้งพระ เป็นการเรียกแบบย่อในภาษาถิ่นใต้ หมายถึงเมืองสทิงพระ เมืองที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปี ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีแสดงถึงการตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาเป็นชุมชนต่อเนื่องกันมาหลายช่วงสมัย มีการรับอิทธิพลทางศาสนา วัฒนธรรมจากโลกภายนอกในระยะแรกเริ่มประวัติศาสตร์ และมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมาเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเจริญขึ้นเป็นเมืองที่มีอำนาจเป็นศูนย์กลางการปกครองท้องถิ่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยมีศูนย์กลางการปกครองเมืองอยู่ในบริเวณตำบลจะทิ้งพระ ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญในบริเวณนี้ ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ศิวลึงค์และฐานโยนี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นต้น ปัจจุบันมีโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน เช่น วัดราชประดิษฐ์ (วัดพะโคะ) วัดดีหลวง เขาคูหา วัดสนามไชย และวัดจะทิ้งพระ ซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นด้าน อันเป็นต้นกำเนิดของภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญ 
วัดจะทิ้งพระ ตั้งอยู่ในเขตตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีภูมิประเทศเป็นเนินทรายและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ นับเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เป็นวัดคู่เมืองสทิงพระมาแต่โบราณ ตามตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่าเจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสีเป็นผู้สร้างวัดขึ้นประมาณ พ.ศ. 1542 ต่อมาถูกโจรสลัดมลายูทำลายไป กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (พ.ศ. 2148-2153) จึงได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ตามหลักฐานเอกสารกัลปนาหัวเมืองพัทลุงสมัยอยุธยาระบุว่า วัดจะทิ้งพระในสมัยนี้แยกออกเป็น 2 วัด คือ วัดสทิงพระ กับวัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้อง ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ภายหลังในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 จึงได้รื้อกำแพงกั้นกลางระหว่างวัดออกรวมเป็นวัดเดียว 
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดจะทิ้งพระ ประกอบด้วย 1.เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ รูปแบบเดียวกับเจดีย์พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นอิทธิพลที่รับมาจากลังกา 2. เจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์ประธาน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นทรงลังกา 3. วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “วิหารพ่อเฒ่านอน” ภายในประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ และเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้ 4. หอระฆัง ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับลวดลายปูนปั้น รูปหน้าหนังตะลุง ที่แสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง 
วิหารพระพุทธไสยาสน์ หรือวิหารพ่อเฒ่านอน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเดิมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมาภายหลังมีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5  ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ 1 องค์ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน มีการเรียกขานกันว่า “พ่อเฒ่านอน” ที่ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ โดยรายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ เมื่อปี 2523 ระบุว่า ผู้เขียนภาพมี 3 คน คือ พระครูวิจารณ์ศีลคุณ (ชู) อดีตเจ้าอาวาส นายเคลื่อน และลูกมือนายช่างใบ้ ได้เขียนขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันได้ลบเลือนไปเกือบหมด คงเหลือให้เห็นเพียงด้านทิศตะวันออก ทั้งนี้ รายงานการสำรวจฯ ยังระบุว่าตำแหน่งภาพเขียนเริ่มจากด้านพระเศียรจรดพระบาท และบริเวณด้านหลังพระประธาน ส่งผลให้ภาพจิตรกรรมนี้มีลักษณะเป็นฉากหลังพระ ประกอบด้วยพุทธประวัติตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 
จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันออก บริเวณด้านเศียรของพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนเสด็จโปรดพุทธมารดา และเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เบื้องล่างแสดงภาพพระภิกษุสงฆ์รับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนที่พากันมาร่วมทำบุญตักบาตร ถวายดอกบัว เรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว” ซึ่งภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอกเพื่อเตรียมตัวไปทำบุญถูกสอดแทรกอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนด้านล่างสุดเป็นฉากนรกภูมิ ซึ่งรายละเอียดของภาพจิตรกรรมในด้านนี้เผยให้เห็นโลกทั้ง 3 อันได้แก่ สวรรค์ โลก และนรก ดังคำกล่าวในพุทธประวัติว่าวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ด้วยการเปิดโลกทั้ง 3 คือ เทวโลก มนุษยโลก และยมโลก จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศใต้ แสดงภาพพุทธประวัติตอนเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ รับข้าวมธุปายาส และธิดามารยั่วยวน ขณะที่จิตรกรรมฝาผนังด้านทิศตะวันตก แสดงภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย 
 จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์มีลักษณะการเขียนภาพบนพื้นสีเหลืองอ่อน เขียนด้วยสีขาว เทา ฟ้า และเขียว ซึ่งการใช้สีดังกล่าวสันนิษฐานว่าเป็นวัตถุประสงค์ของช่างที่ต้องการให้ภาพเขียนมีความสว่างสดใส ขณะเดียวกันอาจช่วยให้ภายในวิหารมีความสว่างมากขึ้นได้
โดยหนึ่งในลักษณะโดดเด่นของจิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้คือการสอดแทรกภาพที่สะท้อนวัฒนธรรมและสังคมในสมัยนั้น อาทิ การแต่งกายของชาวบ้าน ผู้ชายไม่นิยมสวมเสื้อ มีทั้งนุ่งผ้าลอยชายหรือโสร่ง และนุ่งโจงกระเบนปะปนกัน ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าในลักษณะเดียวกัน ห่มผ้าแถบพาดไปด้านหลัง ชายสองข้างพาดไขว้ปิดหน้าอก และภาพหญิงสาวชาวบ้านกำลังปรับแต่งผ้าคาดอก ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการแต่งกายที่ทั้งหญิงและชายในสมัยก่อนนิยมเปลือยอก แต่หากต้องเข้าศาสนสถานอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก็จะให้ความเคารพด้วยการนุ่งห่มปกปิดหน้าอกอย่างเรียบร้อย ภาพหญิงสาวที่ปรากฏจึงเป็นการตรวจสอบความเรียบร้อยของตนเองก่อนเข้าวัด   
……………………………………………………………
เรียบเรียง/ กราฟฟิก: นางสาวธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 
อ้างอิง: 
1. กรมศิลปากร.  รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนังจังหวัดสงขลา. กรุงเทพฯ:  กรมศิลปากร,  2523. 
2. กรมศิลปากร.  หนังสือนำชมโบราณสถานที่สำคัญในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้.  สมุทรสาคร: บางกอกอินเฮ้าส์,  2557.
3. วรรณิภา ณ สงขลา. “จิตรกรรมฝาผนังวัดจะทิ้งพระ” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 4 (2542): 1617-1620.
4. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร.  ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา : ภาควิชาประวัติศาสตร์ สถาบันราชภัฏสงขลา, 2539
5. สกรรจ์ จันทรัตน์ และสงบ ส่งเมือง.  การเริ่มต้นและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองเก่าสงขลา.  กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร,  2534. 
6. สงบ ส่งเมือง.  “จะทิ้งพระ, วัด”  สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 3 (2542): 1475-1479.
7. สุวรรณี ดวงตา.  “ภาษากายจากจิตรกรรมฝาผนังสกุลช่างสงขลาที่วัดโพธิ์ปฐมาวาส อำเภอเมืองสงขลา วัดจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ และวัดคูเต่า อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา” ศิลปะนิพนธ์ปริญญาศิลปบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร,  2551. 
8. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์, 2549.

(จำนวนผู้เข้าชม 1996 ครั้ง)


Messenger