...

โบราณวัตถุชิ้นเด่น “ชุดจานเปลพร้อมฝา ภาชนะเครื่องเงินของพระยาสุนทรานุรักษ์”
“ชวนชม” โบราณวัตถุชิ้นเด่นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา วันนี้ขอนำเสนอ “ชุดจานเปลพร้อมฝา ภาชนะเครื่องเงินของพระยาสุนทรานุรักษ์” 
....................................................................................
ชุดจานเปลพร้อมฝา 
ภาชนะเครื่องเงินของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) 
วัสดุ  เงิน
ขนาด  ปากกว้าง ๘.๒ เซนติเมตร  /  สูงพร้อมฝา ๘ เซนติเมตร 
ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ 
ที่มา พันเอกจินดา – นางพิมสิริ ณ สงขลา  มอบให้
ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา 
....................................................................................
ชุดภาชนะเครื่องเงิน หรือชุดจานเปลพร้อมฝาครอบ ผลิตด้วยเงิน ตัวจานมีลักษณะเป็นทรงรี และทรงกลม ก้นลึก ใต้ก้นจานบางใบมีขาขนาดเล็กสำหรับรองจาน บริเวณขอบจานมีการสลัก ลวดลายต่าง ๆ อาทิ ลายเถาวัลย์พฤกษา ลายจุดไข่ปลา ฯลฯ และสลักชื่อภาษาอังกฤษ “Phya Sundra” และ “Singora”  ในส่วนของฝามีลักษณะคล้ายตัวจานที่คว่ำประกบกัน มีหูสำหรับจับทรงกลม และสลักลวดลายเรขาคณิตขนาดเล็ก ใต้ภาชนะปรากฏตราสัญลักษณ์ “TRIPLE DEPOSIT”
ชุดภาชนะเครื่องเงินชุดนี้เป็นชุดเครื่องเงินที่สั่งผลิตขึ้นเป็นพิเศษสำหรับเป็นสมบัติส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา ใต้ก้นภาชนะมีตรา TRIPLE DEPOSIT ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงงาน MEPPIN & WEBB’S PRINCE’S PLATE ซึ่งเป็นโรงงานที่มีชื่อเสียงในเรื่องการผลิตเครื่องประดับ และเครื่องเงินที่เก่าแก่ของประเทศอังกฤษ 
ในส่วนของชื่อภาษาอังกฤษที่มีการสลักคำว่า “Phya Sundra” บริเวณขอบจาน หมายถึงชื่อของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) บุตรของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาคนที่ ๖ ซึ่งพระยาสุนทรานุรักษ์ในครั้งอดีตเคยดำรงค์ตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา อีกทั้งยังเป็นผู้สร้างคฤหาสน์อันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา และคำว่า “Singora” ที่ปรากฏด้านล่างขอบจานนั้นเป็นชื่อเรียกเมืองสงขลาในครั้งอดีตก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “สงขลา” ในปัจจุบัน
โดยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔-๒๕ เป็นต้นมานั้น เมืองสงขลาภายใต้การปกครองของผู้นำชาวจีนตระกูล ณ สงขลา ได้เริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาเมืองให้กลับสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลที่สำคัญของหัวเมืองปักษ์ใต้อีกครั้ง ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มีการซื้อขาย ตลอดจนการสั่งผลิตสินค้าจากตะวันตก เพื่อจำหน่ายให้แก่กลุ่มผู้ที่มีฐานะ และกลุ่มชนชั้นสูง จึงสันนิษฐานว่าชุดภาชนะเครื่องเงิน หรือชุดจานเปลพร้อมฝาครอบ ผลิตขึ้นเพื่อใช้สำหรับบรรจุอาหารคาว-หวาน
.......................................................................................
เรียบเรียง : นางสาวอันดามัน เทพญา เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์
กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา 
อ้างอิง
๑. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. “โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา.” กรุงเทพฯ  :  รุ่งศิลป์การพิมพ์, ๒๕๔๙.
ดาวน์โหลดไฟล์: ชุดจานเปลพร้อมฝา1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชุดจานเปลพร้อมฝา2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชุดจานเปลพร้อมฝา3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ชุดจานเปลพร้อมฝา4.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 1119 ครั้ง)