โบราณวัตถุชิ้นเด่น จะปิ้งหรือตะปิ้ง
“ชวนชม” โบราณวัตถุชิ้นเด่นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา วันนี้ขอนำเสนอ “จะปิ้ง หรือตะปิ้ง”
....................................................................................
จะปิ้ง หรือ ตะปิ้ง
วัสดุ เงิน
ศิลปะรัตนโกสินทร์ อายุพุทธศตวรรษที่ 25
...................................................................................
จะปิ้ง หรือจับปิ้ง (ปิ้ง, ตะปิ้ง, กระจับปิ้ง) เป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กประเภทหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ ใช้สำหรับสวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะเพศของเด็ก โดยใช้ผูกไว้ที่บั้นเอว คำว่า จะปิ้ง หรือจับปิ้ง สันนิษฐานว่าแต่เดิมน่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า "Caping” ในภาษามลายู การสวมใส่จะปิ้งของเด็กสามารถพบได้ทั่วไปในแถบประเทศอินเดียทางตอนใต้ ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย
ธรรมเนียมการใช้จะปิ้งเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็ก สันนิษฐานว่าน่าจะแพร่หลายเข้ามาในดินแดนบริเวณคาบสมุทรมลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยพบหลักฐานการใช้จะปิ้งเป็นเครื่องประดับในดินแดนทางตอนเหนือและบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในบริเวณหมู่เกาะต่าง ๆ ของประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้สวมใส่ให้กับเด็กเมื่อสามารถยืนหรือเดินได้ และเชื่อกันว่าจะปิ้งเป็นเครื่องรางที่ใช้ปกป้องคุ้มครองผู้สวมใส่จากวิญญาณร้ายและอันตรายต่าง ๆ
ในประเทศไทยธรรมเนียมการสวมใส่จะปิ้งมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับจะปิ้งในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม โดยได้กล่าวถึงแหล่งจำหน่ายจะปิ้งว่ามีจำหน่ายที่ตลาดขันเงิน ถนนย่านป่าขันเงิน ขณะที่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้มีการกล่าวถึงว่า นางพิมเมื่อครั้งเป็นเด็กเคยสวมใส่จะปิ้ง ไว้ในตอนพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม ความว่า
"...เมื่อปีกลายกูได้เห็นมันมา ยังอาบน้ำแก้ผ้าตาแดงแดง
ผูกจับปิ้งเที่ยววิ่งอยู่ในวัด มันหักตัดต้นไม้ไล่ยื้อแย่ง..."
การสวมใส่จะปิ้งในประเทศไทยจะสวมใส่ให้กับเด็กผู้หญิง ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำจะปิ้งจะใช้วัสดุที่หลากหลายตามฐานะของผู้สวมใส่ โดยนิยมทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิม จะปิ้งสำหรับเจ้านาย และบุตรหลานขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มักจะทำด้วยทองคำ ส่วนจะปิ้งของเด็กผู้หญิงทั่วไปมักจะทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนจะใช้จะปิ้งที่ทำจากกะลามะพร้าว โดยจะสวมใส่จะปิ้งให้กับเด็กหลังจากที่โกนผมไฟ จนกระทั่งเมื่ออายุประมาณ 10-12 ขวบ หรือจนกระทั่งเมื่อโกนจุกจึงจะเลิกสวมใส่จะปิ้งเปลี่ยนไปเป็นนุ่งห่มเสื้อผ้าตามฐานะแทน
ลักษณะของจะปิ้งที่พบในปะเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1. จะปิ้งรูปทรงทะนาน หรือรูปทรงใบโพธิ์ เป็นจะปิ้งที่มีขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ เพื่อที่จะสามารถปกปิดอวัยวะเพศของผู้สวมใส่ได้มิดชิด ตอนบนมีลักษณะกลมป้อม ตอนล่างมีลักษณะเรียวแหลม ตรงกลางมีลักษณะโค้งนูนเป็นกระเปาะ ด้านหน้าสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ ด้านหลังมีลักษณะเรียบเกลี้ยง ขอบของด้านบนทำเป็นแท่งทรงกระบอกมีลักษณะกลวงตรงกลาง หรือเจาะเป็นรูเล็ก ๆ 2 รู ไว้สำหรับใช้ร้อยสร้อยหรือเชือกสำหรับผูกไว้บริเวณบั้นเอว ขอบของจะปิ้งมักทำให้มนเพื่อป้องกันไม่ให้บาดเนื้อผู้สวมใส่
2. จะปิ้งรูปทรงร่างแห เป็นจะปิ้งที่ถักด้วยเส้นโลหะขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่ง รูปร่างคล้ายกระเบื้องเกล็ดเต่า หรือรูปสี่เหลี่ยมชายแหลม ตอนบนจะมีห่วงไว้สำหรับใช้ร้อยสร้อยสำหรับผูกไว้กับบั้นเอว
ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะปิ้งที่พบส่วนใหญ่เป็นจะปิ้งที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 25 รูปแบบที่พบมีทั้งที่เป็นจะปิ้งรูปทรงทะนาน หรือจะปิ้งรูปทรงใบโพธิ์ และจะปิ้งรูปทรงร่างแห วัสดุที่ใช้ทำจะปิ้งมีทั้งที่ทำจากทอง เงิน นาก และกะลามะพร้าว ส่วนลวดลายของจะปิ้งที่พบส่วนใหญ่เป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายประจำยาม ลายกระจังตาอ้อย ลายกระจังปฏิญาณ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายกระหนก
นอกจากนี้ยังพบการเขียนภาพการสวมใส่จะปิ้งในงานจิตรกรรมฝาผนังที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกด้วย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นต้น การที่มีการพบการเขียนภาพการสวมใส่จะปิ้งของเด็กผู้หญิงในงานจิตรกรรมฝาผนังที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการแต่งกายของผู้คนในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในสมัยที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นได้เป็นอย่างดี
....................................................................................
เรียบเรียง : นางสาวจันทร์สุดา ทองขุนแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรม
กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
....................................................................................
อ้างอิง
1. กาญจนา โอษฐยิ้มพราย และอลงกรณ์ จันทร์สุข. กิน อยู่ อย่างไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, 2552.
2. กรมศิลปากร. คำให้การขุนหลวงวัด. นนทบุรี: โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2547.
3. กรมศิลปากร. ถนิมพิมพาภรณ์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, 2535. (พิมพ์เนื่องในวโรกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535).
4. จุลทัศน์ พยาฆรานนท์. “จะปิ้ง.” สารภาษาไทย 1, 2 (ตุลาคม- ธันวาคม 2544): 69-72.
5. ซัลมา วงศ์ศุภรานันต์. การศึกษาสารัตถะข้อมูลวัตถุของจริงประเภทเครื่องประดับ. สงขลา: สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2555.
6. ราชบัณฑิตยสถาน. กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด, 2550.
7. วชิรารัตน์ นิรันดร์เตชาภัทร, บรรณาธิการ. เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอสมุดพระชิรญาณ. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุคส์, 2555.
8. ศราวุฒิ วัชระปันตี. จับปิ้ง : อาภรณ์ของเยาวสตรีในอดีต. เข้าถึงเมื่อ 17 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงได้จาก http://coinmuseum.treasury.go.th/news_view.php?nid=153
9. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์. “ปิ้ง.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 10 (2542): 4588-4591.
10. เอนก นาวิกมูล. การแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2547
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะปิ้งหรือตะปิ้ง8.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 10632 ครั้ง)