พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอนที่ 1
พระโพธิสัตว์ชัมภล 2 พระหัตถ์ พระวรกายอวบอ้วน พระอุทรพลุ้ย ทรงเครื่องประดับตกแต่งแบบกษัตริย์ อยู่ในอิริยาบถประทับนั่งแบบลลิตาสนะ (ประทับนั่งห้อยพระบาท) บนบัลลังก์ที่ประดับด้วยหม้อบรรจุทรัพย์สมบัติวางเรียงรายอยู่ด้านหน้า พนักของบัลลังก์ทำเป็นรูปตัววยาลเหยียบอยู่เหนือศีรษะช้างรองรับคาน พระบาทขวาเตะหม้อบรรจุทรัพย์สมบัติล้มลงจนทำให้เพชรพลอยไหลออกมา พระหัตถ์ซ้ายของพระโพธิสัตว์บีบคอพังพอนให้คายพวงมาลัยเพชรพลอย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย พระหัตถ์ขวาถือผลมะนาว มีประภามณฑลล้อมรอบพระเศียรวางอยู่บนคานของบัลลังก์ ด้านหลังประภามณฑลมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี สามารถอ่านได้เพียงบางส่วน เนื่องจากมีความชำรุดหักหายไป โดยเป็นข้อความในบาทสุดท้ายของคาถาเย ธมฺมาฯ คือ "โย นิโรโธ เอวํ วาที มหาสมโณ" ซึ่งสามารถแปลความได้ว่า "พระมหาสมณเจ้าทรงมีพระวาทะอย่างนี้ คือ ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น"
พระโพธิสัตว์ชัมภล หรือท้าวกุเวร เป็นเทพเจ้าที่ถือกำเนิดในศาสนาฮินดู สันนิษฐานกันว่าแต่เดิมเป็นเทพเจ้าแห่งยักษ์ในลัทธิบูชายักษ์ ซึ่งเป็นลัทธิพื้นเมืองลัทธิหนึ่งในประเทศอินเดีย โดยเรื่องราวของท้าวกุเวรปรากฏอยู่ในวรรณกรรมฮินดูตั้งแต่สมัยพระเวทเป็นต้นมา ตามประวัติของท้าวกุเวรกล่าวไว้ว่า ท้าวกุเวรได้บำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาหลายพันปีจนพระพรหมทรงเห็นใจโปรดให้เป็นเทพเจ้าแห่งความมั่งคั่ง และโลกบาลประจำทิศเหนือ
ในพุทธศาสนานิกายมหายาน - วัชรยาน ท้าวกุเวรถูกรู้จักกันในนามของ “พระโพธิสัตว์ชัมภล” เป็นเทพแห่งโชคลาภ มีสถานะเป็นทั้งธรรมบาลตำแหน่งเทียบเท่าพระโพธิสัตว์ ผู้มีหน้าที่ทำสงครามปราบปรามปีศาจและยักษ์มาร ขณะเดียวกันก็มีสถานะเป็นเทพผู้พิทักษ์ (ยิดัม) มีอำอาจปราบภูติผีร้ายต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ พระโพธิสัตว์ชัมภลในคติพุทธศาสนาจึงเป็นผู้ประทานโชคลาภและคุ้มครองจากความชั่วร้ายทั้งปวง
...........................................................................
เรียบเรียง/ กราฟฟิก : ฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
อ้างอิง :
1. กรมศิลปากร. นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส. ม.ป.ท., 2525.
2. กรมศิลปากร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สมาพันธ์ จำกัด, 2543.
3. ผาสุข อินทราวุธ. พุทธปฏิมาฝ่ายมหายาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย, 2543.
4. พิริยะ ไกรฤกษ์. “เทพในพุทธศาสนาลัทธิวัชรยาน : ประติมากรรมที่พบในภาคใต้.” สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่ม 7 (2542): 3482-3493.
5. องอาจ ศรียะพันธ์. “รูปเคารพในพุทธศาสนามหายานก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 พบที่เมืองสทิงพระ.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2533.
6. อุษา โพธิกนิษฐ. “การศึกษารูปแบบและคติการนับถือพระกุเวรในสมัยทวารวดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบิณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2527
ดาวน์โหลดไฟล์: พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอน1-1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอน1-2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอน1-3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: พระโพธิสัตว์ชัมภล (ท้าวกุเวร) ตอน1-4.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 14739 ครั้ง)