...

ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร
ข้อมูลองค์ความรู้ประจำเดือนกันยายน
ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร
อักษร ไทยสุโขทัย
ภาษา ไทย
ศักราช พุทธศักราช ๑๙๔๐
จารึกอักษร จำนวน ๒ ด้าน ด้านที่ ๑ มี ๔๕ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๕๔ บรรทัด
วัสดุจารึก         หินชนวน
ลักษณะวัตถุ แผ่นรูปใบเสมา
ขนาด กว้าง ๖๕ เซนติเมตร สูง ๑๐๘ เซนติเมตร หนา ๑๔ เซนติเมตร
ปัจจุบันอยู่ที่ อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
 ศิลาจารึกหลักนี้ กรมทางหลวงแผ่นดินขุดพบขณะที่สร้างถนนจรดวิถีถ่อง ระหว่างกิโลเมตรที่ ๕๐ - ๕๑
ทางเลี้ยวเข้าวัดมหาธาตุและวัดสระศรี อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ในเขตตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย
จังหวัดสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๓
 เหตุที่ศิลาจารึกหลักนี้มีชื่อเรียกว่า “ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร” เพราะเป็นจารึกที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา ในสมัยโบราณนั้นผู้กระทำความผิดอาญาล้วนเรียกว่า “โจร” เช่น โจรปล้น โจรฆ่าคน เป็นต้น
 ศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร มีเนื้อความกล่าวถึงกษัตริย์พระองค์หนึ่งซึ่งไม่ทราบพระนามแน่ชัด
ผู้ทรงขึ้นเสวยราชย์ใหม่ ต้องตราพระราชบัญญัติขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติกฎหมายลักษณะลักพาหรือลักษณะโจร ประกอบด้วยตัวบทกฎหมาย ๘ มาตรา เนื้อหามีรูปแบบบทบัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจนแตกต่างกับศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักอื่น ๆ สันนิษฐานว่าตราขึ้นโดยกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา แล้วนำมาปักบังคับใช้ที่สุโขทัยซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศราช
 โดยตัวบทกฎหมาย ๘ มาตรา มีเนื้อหาบทบัญญัติกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนี้
 มาตรา ๑ กรณีถ้าข้ารับใช้หรือบริวารของผู้อื่นหนีมาอยู่ด้วยกับตน และตนไม่จัดส่งคืนให้เจ้านายของข้ารับใช้คนนั้น จะต้องถูกปรับเต็มอัตราตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ โดยจะถูกปรับเสมือนไปขโมยลักพาหรือช่วยให้ข้าทาสบริวารของผู้อื่นหนีไปแต่ยังไปได้ไม่พ้นเขตเมือง
 มาตรา ๒ กรณีถ้าข้ารับใช้หรือบริวารของผู้อื่นหนีมาอยู่ด้วยกับตน และตนไม่จัดส่งคืนให้เจ้านายของข้ารับใช้คนนั้นภายใน ๓ วัน (กรณีภายในเขตเมือง) และ ๕ วัน (กรณีภายนอกเขตเมือง) จะต้องถูกปรับตามที่กำหนดไว้ใน
พระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ และหากเกิน ๘ วัน (นับตั้งแต่วันที่ ๙ เป็นต้นไป) จะถูกปรับเสมือนกรณี
ลักทรัพย์ผู้อื่น
 มาตรา ๓ กรณีถ้าเห็นคนมาทำลับ ๆ ล่อ ๆ น่าสงสัยและพิจารณาดูแล้วว่าเป็นโจรจริง ให้ช่วยจับโจรไว้
ผู้ที่ช่วยจับโจรไว้ได้จะได้รับบำเหน็จรางวัล แต่หากผู้ใดพบเห็นโจรแล้วเพิกเฉย ไม่ช่วยจับกุมไว้ ทั้ง ๆ ที่สามารถทำได้ กลับรอให้เจ้าทรัพย์ถึงก่อนแล้วจึงค่อยเข้าไปช่วยจับตัวโจรส่งให้เพราะหวังรางวัล คนผู้นั้นจะไม่ได้รับบำเหน็จรางวัล
ใด ๆ เพราะถือว่าเป็นพวกเดียวกับโจร และมีความผิดฐานวางเฉย และถ้าต่อไปพิจารณาพบว่าเป็นพวกเดียวกับขโมยจริงจะต้องถูกลงโทษด้วย
 มาตรา ๔ กรณีถ้ามีผู้จับโจรได้พร้อมทรัพย์สินที่ถูกขโมยไป แต่ไม่นำส่งคืนแก่เจ้าของ กลับเก็บทรัพย์สินนั้นไว้กับตัวเกือบทั้งวัน กำหนดให้ลงโทษขั้นสูงสุดตามพระราชศาสตร์
 มาตรา ๕ กรณีถ้ามีผู้นำสิ่งของที่ถูกขโมยไปส่งคืนแก่เจ้าของ ผู้นั้นจะได้รับรางวัล ส่วนผู้ใดที่วางเฉย ไม่ช่วยจับกุมหรือจับได้แล้วแต่ปล่อยตัวโจรไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ผู้นั้นจะมีความผิดเสมือนเป็นขโมยเสียเอง
 มาตรา ๖ ประเสริฐ ณ นคร กล่าวว่า กรณีมีผู้ไปขโมยของในบ้านผู้อื่น หรือไปล่า ฆ่าฟันผู้อื่น มีผู้ชวนตนไป
ลักของผู้อื่นก็ดี ไปลักของด้วยกันก็ดี และรู้ว่าผู้ใดลักทรัพย์สินท่านนานประมาณภายในสิบปี ไม่มีผู้รู้เห็นขโมยผู้นี้
หากผู้นั้นจับขโมยได้ แต่ไม่บอกเจ้าหน้าที่และเจ้าของ ท่านให้ปรับมันเหมือนดังมันเป็นขโมย และปรับสถานเดียวกับคนมาพาลูกเมียท่านไป ส่วนเทพี จรัสจรุงเกียรติและเสาวรส มนต์วิเศษ กล่าวว่า กรณีมีผู้ไปลักทรัพย์ ชักชวนให้ไป
ลักทรัพย์ หรือไปด้วยกันกับผู้ชักชวน ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านไปนานพ้น ๑๐ ปีแล้วก็ตาม แล้วไม่แจ้งความ แต่กลับนำความนั้นไปข่มขู่เจ้าทรัพย์เพื่อขอรับสินจ้างรางวัล กฎหมายกำหนดให้ปรับเสมือนเป็นขโมยและได้ข่มขู่เจ้าทรัพย์ อนึ่งผู้ที่นำผู้คนหรือทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปมาส่งคืนเจ้าของ จะได้รับรางวัลตามที่กำหนดไว้ในพระราชศาสตร์และพระธรรมศาสตร์ และได้รับการยกย่องเชิดชูด้วย
 มาตรา ๗ กรณีถ้ามีการขโมยแย่งชิงของซึ่งหน้า ต้องเข้าไปช่วยจับกุม หากไม่ช่วยจับกุมจะต้องถูกปรับและต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับสิ่งที่ถูกขโมยไปแก่ผู้เสียหายด้วย
มาตรา ๘ กรณีถ้าจะมีการฆ่าวัวควาย ให้นำวัวควายนั้นมาแสดงให้ผู้อื่นรู้เห็นเป็นพยานก่อน จึงจะสามารถฆ่าวัวควายนั้นได้ หากไม่นำวัวควายมาแสดงให้ผู้อื่นรู้เห็นก่อนจะมีความผิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันผู้ขโมยวัวควายของผู้อื่นมา
 ศิลาจารึกหลักนี้ตัวอักษรลบเลือนไปมาก สันนิษฐานได้ว่ายังมีกฎหมายในมาตราอื่น ๆ อยู่อีก แต่ไม่สามารถจะจับความมาผูกต่อกันให้ได้ความชัดเจนได้ทั้งหมด ซึ่งศิลาจารึกหลักนี้เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่อยู่ในรูปแบบดั้งเดิมโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ มาจนถึงปัจจุบันเป็นฉบับแรกของไทยและเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นมีการใช้คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา นับเป็นศิลาจารึกด้านกฎหมายที่สำคัญของไทย
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๔๘. (พิมพ์ในงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัววันพระบรมราชสมภพครบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗)
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย, เข้าถึงเมื่อ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๖. เข้าถึงได้จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/
ประเสริฐ ณ นคร. กฎหมายลักษณะโจร พ.ศ. ๑๙๔๐. ใน: สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; ๒๕๔๑. หน้า ๕๓๖ - ๕๔๓.
Debi Jaratjarungkiat and Saowarose Monwiset. “The Representations of ‘offenders’ in Legal Inscription on Thief’s Characters.” Journal of Arts and Thai Studies 44, 2 (May – August 2022): 58 – 79.





(จำนวนผู้เข้าชม 6365 ครั้ง)


Messenger