พระพุทธรูปลีลา
พระพุทธรูปลีลา
สำริด ลงรักปิดทอง ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐
พบจากเมืองโบราณสุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย นำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ ก่อนนำมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖
พระพุทธรูปแสดงอิริยาบถเดินโดยพระบาทซ้ายก้าวไปข้างหน้า พระบาทขวายกส้นพระบาทขึ้นเล็กน้อย ประทับบนฐานรูปดอกบัวหงาย รองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยม ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นในท่าประทานอภัย พระหัตถ์ขวาทอดลงข้างพระวรกาย พระพุทธรูปลีลา
นับเป็นงานสร้างสรรค์ประติมากรรมอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของศิลปะสุโขทัย เป็นการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ตามคตินิยมเรื่อง “มหาบุรุษลักษณะ” ที่มีความงามตามอุดมคติอย่างแท้จริง
โดยมีลักษณะพระพักตร์รูปไข่ พระเนตรเรียวเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์เรียวเล็กบาง พระหนุเป็นปม พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศาขนาดเล็ก พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียงบางแนบพระวรกาย สังฆาฏิยาวจรดพระนาภีปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ
พระพุทธรูปลอยตัวนี้น่าจะหมายถึง พุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากพระพุทธองค์โปรดพระมารดาแล้ว พระองค์เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ โดยเสด็จลงมาทางบันไดแห่งซึ่งอยู่ระหว่างกลางพระอินทร์และพระพรหมลงมาตามบันไดทองและบันไดเงินซึ่งเมื่อสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัวจึงปรากฏเพียงรูปของพระพุทธองค์ในลักษณะก้าวเดินโดยไม่มีฉากประกอบ
นอกจากนั้นในการสร้างพระพุทธรูปลีลาลอยตัว ยังแสดงถึงเทคนิคขั้นสูงในการหล่อโลหะในช่วงยุคทองของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมของสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทอีกด้วย
ที่มาของข้อมูล
: หนังสือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ข้อมูลนำชมโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง
ผ่าน QR code
จัดทำโดย นางสาวสาธิตา วรรณพิรุณ
คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม
ชั้นปีที่ ๔ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
โครงการสหกิจศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๖๓
(จำนวนผู้เข้าชม 33313 ครั้ง)