ค้นหา
รายการที่พบทั้งหมด 34,977 รายการ
แสงวาบ วับ...ที่"ประภาคาร"ยอดเขาแหลมสิงห์
*มูลเหตุของการก่อสร้าง*
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๔๔๗ หลังจากจัดการเรื่องฝรั่งเศสถอนทหารออกไปจากเมืองจันทบุรี พระยาศรีสหเทพ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยได้เรียกพ่อค้าไทยจีน ตองซู และกุลาทั้งหมดในเขตแขวงเมืองจันทบุรีมาประชุมไต่ถามทุกข์สุข...
...ได้ความว่ามีความสุขสบายดี ไม่มีผู้ใดข่มเหงเบียดเบียนให้เดือดร้อนแต่อย่างไร สำหรับเรื่องการสนับสนุนบำรุงเรื่องการเพาะปลูกและการค้าขายต่อไปนั้น...
...มีข้อเสนอแนะเป็นเอกฉันท์ว่า ควรจะสร้างกระโจมไฟที่ปากน้ำบนเขาแหลมสิงห์แทนที่กระโจมไฟเดิม(ซึ่งเป็นเสาไม้สักในเวลากลางคืนใช้ตะเกียงน้ำมันจุดชูยกขึ้นบนยอดเสา ที่ปลายข้างหนึ่งถ่วงด้วยตุ้มเหล็กสานด้วยหวาย) เพื่อให้ชาวเรือเป็นที่สังเกตเมื่อเวลาเรือผ่านเข้า-ออก กระโจมไฟนั้นเป็นประโยชน์อันมากแก่การเดินเรือค้าขายไป-มา
*การก่อสร้าง*
พระยาศรีสหเทพจึงกราบทูลต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนอกระทรวงนครบาล ขอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการสำรวจสถานที่ จัดทำแบบการก่อสร้างกระโจมไฟบริเวณปากอ่าวเมืองจันทบุรี
ขอให้พระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรีกรุยร่องน้ำตั้งแต่ปากน้ำแหลมสิงห์ไปจนถึงเมืองจันทบุรีเพื่อความสะดวกในการเดินทาง ในการสำรวจสถานที่สร้างประภาคารที่ปากอ่าวเมืองจันทบุรีนั้น กรมเจ้าท่าได้มอบให้กับตันนิกซันเทน ดำเนินการสำรวจและเห็นว่าที่ตั้งประภาคารสมควรตั้งบนเขาแหลมสิงห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งเสาธงอยู่จะเหมาะสมกว่าแห่งอื่น ๆ
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๔๗ มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่า จึงทูลถวายแบบรายการก่อสร้าง และราคาค่าก่อสร้างกระโจมไฟ รวมทั้งเรือนพักคนเฝ้ากระโจม (โดยสั่งวัสดุสิ่งก่อสร้างต่างๆ จากประเทศอังกฤษ รวมทั้งค่าก่อสร้างและทาสี )
การก่อสร้างกระโจมไฟที่ปากอ่าวเมืองจันทบุรี ใช้งบประมาณรวมทั้งหมด ๑๖,๓๖๐ บาท (หนึ่งหมื่นหกพันสามร้อยหกสิบบาทถ้วน) เป็นค่าก่อสร้างกระโจมไฟ ประกอบด้วย สามขาเหล็กชนิดอย่างดีสูง ๑๕ ฟิต พร้อมโคมไฟชนิดที่ ๔ เป็นเงิน ๑๒,๙๖๐ บาท และค่าก่อสร้างเรือนพักผู้รักษาประภาคาร ๑ หลัง เป็นเงิน ๓,๔๐๐ บาท
การก่อสร้างกระโจมไฟแหลมสิงห์เริ่มขึ้นในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๘ โดยห้างแมกกาย แอนด์ แมกอาร์เธอร์ ลิมิเต็ด เป็นผู้รับเหมาทำการก่อสร้าง กรมเจ้าท่ารับผิดชอบในการขนย้ายวัสดุก่อสร้างและรับ-ส่งคนงานจากกรุงเทพฯ
โดยใช้เรือกลไฟ "พระยม" บรรทุกวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้ก่อสร้างกระโจมไฟแหลมสิงห์เดินทางออกจากกรุงเทพฯไปยังเมืองจันทบุรี ส่วนการขนเครื่องประภาคารขึ้นยอดเขาใช้การเกณฑ์แรงงานจากราษฎรในละแวกนั้น
การก่อสร้างประภาคารแล้วเสร็จในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๘ มิสเตอร์แอนเดอสัน เริ่มทดลองจุดไฟบนกระโจมไฟอยู่ ๔ คืน สังเกตดูไฟสว่างพอใช้ส่วนการก่อสร้างเรือนที่พักผู้รักษาการกระโจมไฟนั้นแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามหนังสือสัญญาในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๔๘ กรมเจ้าท่าได้มอบให้มิสเตอร์อาร์ ทอริซัน ที่ปรึกษาราชการกรมเจ้าท่าไปรับมอบประภาคารและจัดคนประจำอยู่ดูแลรักษา
ต่อมากรมเจ้าท่าได้มีประกาศใช้ประภาคารแหลมสิงห์โดยรับสั่งของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาลว่า
" ขอแจ้งความให้บรรดาผู้ที่เดินเรือไปมาในทะเลทราบทั่วกันว่าประภาคารที่ได้สร้างขึ้นใหม่บนเนินเขาแหลมสิงห์ปากน้ำเมืองจันทบุรีแห่งหนึ่งนั้นสำเร็จบริบูรณ์ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดจุดโคมตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน ร.ศ.๑๒๕ (พ.ศ.๒๔๔๙) เป็นต้นไป
ชนิดของโคมนี้เป็นโคมสีขาวมืดได้สว่างได้เป็นแสงวาบ เมื่อสว่างมีแสงอยู่ ๒๕ วินาที และมืด ๕ วินาที แลเห็นได้ในระยะทาง ๔๐๐ เส้น เรือนประภาคารนั้นตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำเมื่อเวลาน้ำขึ้นประมาณ ๔๒ วา
พร้อมกันนั้นได้เปลี่ยนชื่อกระโจมไฟแหลมสิงห์ เป็นประภาคารแหลมสิงห์ ให้อยู่ในความดูแลของกรมเจ้าท่า
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โอนประภาคารแหลมสิงห์ไปอยู่ในความดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
ปัจจุบัน โบราณสถานแห่งนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการพิจารณาขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรต่อไป
ผู้เขียน
สุมลฑริกาญจณ์ มายะรังษี
นักจดหมายเหตุ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ จันทบุรี
อ้างอิง
แบบสำรวจโบราณสถานสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๘