...

โบราณสถานหมายเลข 2



เป็นกลุ่มอาคารเช่นเดียวกับโบราณสถานหมายเลข ๑ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบนอกกำแพงแก้ว ใกล้มุมกำแพงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโบราณสถานหมายเลข ๑ กลุ่มอาคารทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน ๒ ชั้น ฐานชั้นล่างกว้าง ๓๓.๙๐ เมตร ยาว ๕๔.๒๐ เมตร สูง ๐.๘๐ เมตร ตรงกลางใช้ดินลูกรังหรือศิลาแลงเม็ดเล็กๆ อัดแน่น ก่อสร้างด้วยศิลาแลงแล้วประดับด้วยลายปูนปั้น

ถัดไปเป็นฐานชั้นบนกว้าง ๒๓.๗๐ เมตร ยาว ๔๔.๘๐ เมตร มีทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บนฐานชั้นนี้เป็นลานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร

ถัดจากลานเป็นแนวระเบียงคดและเป็นโคปุระด้านหน้า หรือด้านทิศตะวันออก มีทางขึ้น ๔ ทิศ ถัดจากโคปุระด้านหน้าออกไป ๗ เมตร เป็นกลุ่มอาคาร ๖ หลัง ตั้งรวมกันเป็นกลุ่มห่างจากโคปุระด้านหน้าค่อนข้างมาก ประกอบด้วยปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง ด้านข้างเป็นโคปุระด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ ด้านหลังเป็นโคปุระด้านทิศตะวันตก ซุ้มทิศมุมตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน มีระเบียงคดและทางเดินเชื่อมต่อกัน

จากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข ๒ นี้ได้พบแท่นฐานประติมากรรมหินทรายเป็นจำนวนมากตั้งอยู่ในโคปุระและตามแนวระเบียงคดและที่ซุ้มทิศ นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมหินทรายรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปนาคปรก นางปรัชญาปารมิตา พระพิมพ์ดินเผาจำนวนมาก

ลักษณะตัวอาคารของโบราณสถานหมายเลข ๒ มีลักษณะไม่สมดุลกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานของโคปุระด้านทิศตะวันออก ซึ่งแต่ละด้านย่อมุมไม่เท่ากัน หรือฐานของแนวระเบียงด้านทิศใต้ที่ไม่อยู่ในลักษณะของเส้นตรงเหมือนกับฐานของแนวแนวระเบียงคดด้านทิศเหนือ หรือที่โคปุระด้านทิศเหนือที่มีทางขึ้นด้านข้างแต่กลับไม่พบที่โคปุระด้านทิศใต้ สิ่งเหล่านี้อาจจะแสดงให้เห็นว่าโบราณสถานหมายเลข ๒ นี้อาจจะยังสร้างไม่เสร็จ หรือมีการก่อสร้างเพิ่มเติมจนทำให้อาคารมีลักษณะดังกล่าว

       

        
                        

(จำนวนผู้เข้าชม 1669 ครั้ง)