ประวัติและบทบาทหน้าที่
เนื่องจากปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุครบ ๖๐ พระพรรษา รัฐบาลได้มีนโยบายให้มีการเฉลิมฉลองสมโภชยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ กรมศิลปากร ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีดำริเพื่อจะดำเนินการเพื่อสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล เช่นการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชมและศึกษาหาความรู้ อุทยานประวัติศาสตร์ที่กรมศิลปากรมีกำหนดเปิดเป็นทางการเป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ คืออุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากขอมอันมีอยู่เพียงแห่งเดียวทางภาคตะวันตกของประเทศไทย และตั้งอยู่ที่ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยเหตุนี้กรมศิลปากรจึงมีดำริและพิจารณาให้โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์เร่งดำเนินการขุดแต่ง และบูรณะ อีกทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตโบราณถสานแห่งนี้ให้แล้วเสร็จทันการเฉลิมฉลองดังกล่าว
หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พบที่ในบริเวณเมืองสิงห์นั้น ได้จากการขุดค้นบริเวณริมแม่น้ำแควน้อยนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ หลักฐานดังกล่าวเป็นหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับศพ อาทิเช่นภาชนะดินเผา แวดินเผา ภาชนะสำริด ขวานสำริด ทัพพีสำริด กำไลสำริด ลูกปัดหินอะเกตและคาร์นีเลียน กำไลหิน ลูกปัดแก้ว กำไลเปลือกหอย ฯลฯ หลักฐานเหล่านี้คล้ายคลึงกับที่พบที่บ้านดอนตราเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งกำหนดอายุอยู่ในราวปลายยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีคนเข้ามาทำกิจกรรมก่อนหน้าที่จะสร้างเมืองเป็นเวลานานนับพันปี แต่น่าเสียดาย ที่ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมของบริเวณนี้จากสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาสู่ยุคที่มีการสร้างเมือง
ในสมัยต่อมาของเมืองสิงห์คือช่วงเวลาที่มีการสร้างเมือง ปรากฏหลักฐานเป็นจำนวนมาก ได้แต่ตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดพื้นที่ประมาณ ๑ ตารางกิโลเมตร มีคูเมือง คันดิน และกำแพงเมืองศิลาแลงล้อมรอบ ที่กลางเมืองมีโบราณสถานทรงปราสาทสร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะขอมแบบบายน และโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมตามลักษณะศิลปะขอมแบบเดียวกัน ซึ่งจากลักษณะทางศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุได้ว่าปราสาทหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือในราวรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ประเทศกัมพูชา มีศิลาจารึกหลักหนึ่งที่พบที่ปราสาทพระขรรค์ อันเป็นศาสนสถานแห่งหนึ่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ได้ทรงสร้างขึ้น ศิลาจารึกหลักนี้สร้างขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมารพระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มีข้อความสรรเสริญความกล้าหาญและการบุญกุศลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ และมีตอนหนึ่งกล่าวถึงชื่อเมืองต่างๆ ๒๓ แห่ง ว่าเป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์และบริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะได้ระบุชื่อเมือง ๖ เมือง ได้แก่ ลโวทยะปุระ สุวรรณปุระ ศัมพูกปัฏฏนะ ศรีราชบุรี ศรีชัยสิงหบุรี และชัยวัชรบุรี ซึ่งตีความว่าอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศไทย กล่าวคือ เมืองลโวทยปุระคือเมืองละโว้หรือลพบุรี สุวรรณปุระคือเมืองสุพรรณบุรี ชัยราชบุรีคือเมืองราชบุรี ชัยวัชรบุรีคือเมืองเพชรบุรี และเมืองศรีชัยสิงหบุรีก็คือเมืองสิงห์ที่ตั้งปราสาทเมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรี
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงปกครองบ้านเมืองคงจะมีพระราชดำริว่า เมืองสิงห์เป็นเมืองเล็กไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งเจ้าเมืองปกครอง และในทำเนียบศักดินาหัวเมืองก็ไม่ปรากฏชื่อเมืองสิงห์อยู่เลย จึงเป็นที่เข้าใจว่าเมื่อขอมหมดอำนาจลงแล้ว เมืองสิงห์ก็คงถูกปล่อยให้เป็นเมืองร้างไป เมืองสิงห์ปรากฏหลักฐานอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ได้ทรงสถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่มีฐานะเป็นเพียงเมืองหน้าด่านเล็กๆ มีเจ้าเมืองปกครองและขึ้นอยู่กับเมืองกาญจนบุรี แต่เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่กันดาร เจ้าเมืองจึงไม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้ แต่ทว่าไปอยู่ที่บ้านโป่ง และส่งหมวดลาดตระเวณไปคอยตรวจตราเป็นประจำ เจ้าเมืองจะขึ้นไปบัญชาการที่เมืองนี้ก็เฉพาะแต่กรณีฉุกเฉินบางครั้งบางคราวเท่านั้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานนามให้แก่เจ้าเมืองต่างๆ ที่ครองเมืองด่านเล็กๆ ตามลำน้ำแควน้อยนี้ใหม่ทั้งหมด เช่น โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเจ้าเมืองไทรโยคว่าพระนิโครธาภิโยค พระราชทานนามเจ้าเมืองท่าตะกั่วว่า พระชินดิษฐบดี สำหรับเมืองสิงห์เจ้าเมืองได้รับพระราชทานนามว่า "พระสมิงสิงห์บุรินทร์"
เมืองสิงห์ยังคงดำรงฐานะเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ ครั้งนี้เมืองสิงห์ถูกลดฐานะลงเป็นตำบลเรียกกันว่าตำบลสิงห์เรื่อยมาจนทุกวันนี้ เมืองสิงห์ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองสิงห์เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ แต่ยังไม่ได้กำหนดขอบเขต การกำหนดขอบเขตโบราณสถานมีขึ้นในปี ๒๕๐๓ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๗๗ ตอนที่ ๖๐ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๐๓ มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๗๑๘ ไร่ ๓ งาน และกรมศิลปากรได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๓ ถึงกรมที่ดิน เพื่อขอให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เมื่อพนักงานที่ดินจังหวัดดำเนินการรังวัดสอบเขต แล้วจึงได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง มีเนื้อที่ ๖๔๑ ไร่ ๑ งาน ๖๕ ตารางวา โดยกรมศิลปากรได้รับหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนี้ไว้เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๕
หลังจากนั้นจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อการบูรณะพัฒนาพื้นที่ โดยการดำเนินการถากถางทำความสะอาด ขุดแต่งขุดค้น บูรณะโบราณสถาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น และดำเนินการจัดการในรูปของอุทยานประวัติศาสตร์ เมื่อการดำเนินการเสร็จ จึงได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๐ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานในพิธี และนับว่าเป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย
(จำนวนผู้เข้าชม 547 ครั้ง)