เรื่อง เฉลิมพระชนมพรรษา
เรื่อง เฉลิมพระชนมพรรษา
แนะนำโดย นางโสภี เฮงสุดผล บรรณารักษ์ชำนาญการ
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มขึ้น คือพระราชพิธีทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันประสูติขององค์พระมหากษัตริย์หรือพระบรมราชินี การเฉลิมพระชนมพรรษา มีชื่อเป็นสองตอน คือ ฉลองอย่างหนึ่ง เฉลิมอย่างหนึ่ง
ฉลองนั้น คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา ซึ่งมีมาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้สมโภชในวันสวดมนต์ถือน้ำเดือน ๕ และวันสรงน้ำสงกรานต์เป็นการฉลอง ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกการฉลองพระชนมพรรษามาทำในเดือน ๑๑ เนื่องจากพระชนมายุบรรจบครบรอบในเดือนนี้ และทรงเป็นการใหญ่โตกว่าการเฉลิมพระชนมพรรษา คือฉลองพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา การพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาถือเอาวันพระบรมราชสมภพโดยทางสุริยคติ เช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือวันที่ ๒๑ กันยายน เป็นฤกษ์ ส่วนการฉลองพระชนมพรรษานั้นถือเอาวันตรงวันพระบรมราชสมภพโดยทางจันทรคติ พระราชพิธีทั้งสองนี้ บางทีก็ใกล้กันและบางทีก็ต่างกัน
ในการพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ไม่มีพระราชพิธีอะไรมากนัก สาเหตุเนื่องจากยังไม่มีผู้เข้าใจในพระราชพิธีและทราบพระราชประสงค์ที่แท้จริง ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การพระราชพิธีพระชนมพรรษา ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นงานใหญ่อย่างออกหน้าออกตาไม่ได้ทรงกระทำเป็นการภายในอย่างครั้งในรัชกาลที่ ๔ ทั้งนี้เพราะมีผู้เข้าใจในการพระราชพิธีพระชนมพรรษามากขึ้น อาทิ จัดแต่งพุ่มไฟประกวดกันในพระบรมมหาราชวังตามวังเจ้านายและบ้านข้าราชการ ราษฎรทั่วไปก็จุดประทีปโคมไฟสว่างไสวตลอดสองฝั่งแม่น้ำลำคลองและท้องถนน นอกจากนี้ในการพระราชพิธีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดรายการลงไปว่าวันไหนจะทรงประกอบพระราชพิธี และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอะไร ซึ่งเป็นวิธีการที่พระมหากษัตริย์ต่อๆ มาได้ทรงถือเป็นแบบอย่างมาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับการหยุดราชการเนื่องในวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาที่นับว่าประกาศเป็นวันนักขัตฤกษ์เป็นประจำปีเป็นทางการและเป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ได้ประกาศหยุดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ถือในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
--------------
ที่มา
พิริยะ ไกรฤกษ์. ลักษณะไทย พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์, ๒๕๕๑
สงวน อั้นคง. สิ่งแรกในเมืองไทย เล่ม ๔. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: วังบูรพา, ๒๕๒๙. หน้า ๑๓๙-๑๔๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 128 ครั้ง)