ทับหลังปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่มาตุภูมิ แผ่นดินจังหวัดสระแก้ว
บทความออนไลน์จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
+++ทับหลังปราสาทเขาโล้นกลับคืนสู่มาตุภูมิ แผ่นดินจังหวัดสระแก้ว+++
--จากการที่ได้มีการติดตามโบราณวัตถุ ทับหลังปราสาทเขาโล้น และทับหลังปราสาทหนองหงส์ จากสหรัฐอเมริกา จนได้กลับคืนสู่ประเทศไทยนั้นล่าสุดกรมศิลปากรได้เคลื่อนย้าย และส่งมอบโบราณวัตถุทั้งสองรายการกลับคืนสู่มาตุภูมิทั้งจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดบุรีรัมย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ ๒๙ - ๓๐ มิถุนายน ที่ผ่านมา
--สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกรมศิลปากรรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออก ได้มอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี และอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม รับมอบทับหลังปราสาทเขาโล้น พร้อมชุดนิทรรศการพิเศษจากสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการส่งมอบโบราณวัตถุทับหลังดังกล่าว ณ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๕ โดยมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจัดทำทะเบียนโบราณวัตถุ
--ในเบื้องต้น กรมศิลปากรกำหนดให้ดำเนินการจัดแสดงโบราณวัตถุทับหลังปราสาทเขาโล้นไว้ ณ ศูนย์บริการข้อมูล อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงานของกรมศิลปากรที่อยู่ใกล้ปราสาทเขาโล้น ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านเจริญสุข หมู่ที่ ๖ ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธมนั้น มีอาคารศูนย์ข้อมูลที่เหมาะสมในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่โบราณวัตถุ รวมถึงระบบการจัดแสดง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่พร้อมให้บริการแก่ประชาชนทั้งชาวจังหวัดสระแก้ว และผู้สนใจมาเยี่ยมชม
--ในการนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ขอนำภาพเบื้องหลังการรับมอบ และนำทับหลังมาจัดแสดงในนิทรรศการให้ได้ชมกัน และขอเล่าย้อนถึงหลักฐานในการติดตามทับหลังชิ้นสำคัญนี้ และรูปแบบศิลปกรรมอันทรงคุณค่า ดังนี้
--ทับหลังปราสาทเขาโล้น ปรากฏหลักฐานภาพถ่ายเก่า ว่าเดิมติดตั้งอยู่เหนือประตูทิศตะวันออกของปราสาทหลังกลาง ที่ปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้ว ต่อมาถูกลักลอบนำออกไปจากประเทศไทย ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๑ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย โดยความร่วมมือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ติดตามกลับคืนมาถึงประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา
--ทับหลังปราสาทเขาโล้น แกะสลักจากหินทรายปรากฏเป็นรูปบุคคลประทับอยู่เหนือเกียรติมุข (หน้ากาล) อยู่กึ่งของภาพจำหลัก สภาพชำรุด ผิวหน้าสึกกร่อน หน้าเทวดาหักหายไป ทับหลังแตกเป็น ๓ ส่วน Asian Art Museum ได้ซ่อมแซมโดยใช้ตะปูโลหะและเรซิ่นเชื่อมรอยแตกไว้ ขนาดกว้าง ๑๖๓.๘ เซนติเมตร สูง ๕๕ เซนติเมตร
--จากสภาพที่ปรากฏในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายเก่าที่บันทึกไว้นั้น เป็นที่น่าเสียดายว่ารูปเทวดานั่งชันเข่าที่มีอยู่เดิมได้ถูกกะเทาะหักหายไปบางส่วน อีกทั้งทับหลังได้ถูกตัดให้บางลงอาจเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย ปัจจุบันจึงเหลือความหนาเพียง ๑๑ – ๑๕ เซนติเมตร
--จากรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏบนทับหลังจำหลักภาพเทวดาประทับเหนือหน้ากาล ปราสาทเขาโล้น นั้น จัดเป็นทับหลังศิลปะเขมรในประเทศไทยแบบบาปวนตอนต้น กำหนออายุได้ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ทับหลังจำหลักภาพลักษณะนี้ยังพบได้จากโบราณสถานหลายแห่ง ดังเช่นที่ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น
--ทั้งนี้ อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธรม ได้เปิดให้เข้าชมทับหลังปราสาทเขาโล้น และนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “ทับหลังปราสาทเขาโล้นคืนสู่มาตุภูมิ” ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป จึงขอเรียนเชิญประชาชน นักท่องเที่ยว ได้มาชมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนี้ เพื่อร่วมกันภาคภูมิใจ สร้างสรรค์จรรโลง ส่งเสริมการดูแล อนุรักษ์ รักษา และสืบทอดมรดกอันทรงคุณค่ายิ่งของประเทศนี้สืบต่อไป
อ้างอิง :
- สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. ข้อมูลสรุปการการติดตามโบราณวัตถุทับหลังเขาโล้นกลับคืนสู่ประเทศไทย
- สิขรินทร์ ศรีสุวิทธานนท์. “ปราสาทเขาโล้น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว” ใน ศิลปากร, ปีที่ ๖๓, ฉบับที่ ๓ (พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๖๓): หน้า ๖๔-๘๕.
- สุภัทรดิศ ดิศกุล, ม.จ.. ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ, ๒๕๑๐.
- อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. ๒๕๖๒.
ผู้เรียบเรียง : นางสาววัชรี ชมภู ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
(จำนวนผู้เข้าชม 600 ครั้ง)