เรื่อง วันเข้าพรรษา
องค์ความรู้ส่งเสริมการอ่านกับหอสมุดแห่งชาติชลบุรี
เรื่อง วันเข้าพรรษา
การเข้าพรรษา คือ การที่ภิกษุผูกใจว่าจะอยู่ที่แห่งเดียวตลอดเวลา 3 เดือนในฤดูฝน โดยไม่ไปค้างแรมในช่วงเวลาราตรีในที่แห่งอื่น นับตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน 8 ไปจนถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันเข้าพรรษา ได้แก่
การถวายผ้าอาบน้ำฝน ในสมัยพุทธกาลนั้น ผ้าอาบหรือผ้าสำหรับพลัดเวลาอาบน้ำ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ในเวลาที่ใกล้เข้าพรรษา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสให้พระภิกษุทั้งหลายแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนและผ้านุ่งห่ม พุทธศาสนิกชนเมื่อได้ทราบดังนั้นจึงพร้อมใจกันบริจาคทรัพย์และจัดหาผ้าอาบน้ำฝนนำไปถวาย เมื่อผู้ใดถวายจึงได้อานิสงส์และได้ชื่อว่าเกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป ปัจจุบันการถวายผ้าอาบน้ำฝนเป็นเพียงการถวายพอเป็นพิธีตามที่เคยเป็นมาเท่านั้น และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปได้เปลี่ยนจากผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดตัว เพื่อใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
การถวายเทียนพรรษา มีมาแต่โบราณกาลกระทำกันเป็นประจำทุกปี
ด้วยพระภิกษุต้องสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้าค่ำ และต้องมีธูปเทียนจุดบูชา ชาวบ้านพร้อมใจกันหล่อเทียนถวาย ถือเป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง คือ การให้ทานด้วยแสงสว่าง เชื่อกันว่าจะทำให้สติปัญญาเพิ่มพูน หูตาสว่างไสว สันนิษฐานว่าการถวายเทียนพรรษาเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังปรากฏใน โคลงดั้นทวาทศมาศและกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ที่กล่าวถึงพระราชพิธีในราชสำนักพิธีหนึ่งเรียกว่า พระราชพิธีอาษาฒมาส หรือพระราชพิธีเดือน 8 ปัจจุบันการพระราชทานเทียนพรรษาจะมีการหล่อเทียนล่วงหน้าก่อนพระราชพิธีเข้าพรรษา 45 วัน เทียนพรรษาพระราชทานมีด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ เทียนแบบหล่อ และแบบแกะสลัก ซึ่งจะพระราชทานยังพระอารามหลวงแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสองแบบ ตามพระราชอัธยาศรัย
บรรณานุกรม
เมฆพัสตร. ประเพณีโบราณไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565, จาก: http://digital.nlt.go.th/items/show/18538. 2510.
ธัญญพัทธ์ ศรีบุญสถิตพงษ์. บทบาทของเทศบาลนครอุบลราชธานีในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น: กรณีวิจัยการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2565, จาก: http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/.../NakornUbon...
(จำนวนผู้เข้าชม 1278 ครั้ง)