...

เวียงแพร่ การดำเนินงานทางโบราณคดีและการกำหนดอายุสมัย
องค์ความรู้ทางโบราณคดี เรื่อง เวียงแพร่ : การดำเนินงานทางโบราณคดีและการกำหนดอายุสมัย
โดย นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
.     เวียงแพร่เป็นชุมชนโบราณที่มีคูคันดินหรือกำแพงเมือคูเมืองล้อมรอบ โดยมีกำแพงเมือง ๑ ชั้น คูเมือง ๑ ชั้น ขุดล้อมเนินดินธรรมชาติอันเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำยมจำนวน ๓ เนิน ตัวเมืองมีความกว้างที่สุด ๘๓๐ เมตร ยาวที่สุด ๑,๔๖๖ เมตร เดิมมีประตูเมือง ๔ ประตู ซึ่งเป็นประตูมาแต่โบราณ ประกอบด้วย ประตูชัย ประตูยั้งม้า ประตูศรีชุม และประตูมาน เวียงแพร่เป็นศูนย์กลางของนครรัฐแพร่ จนกระทั่งในปี พ.ศ.1986 พระเจ้าติโลกราชทรงให้พระมารดายกทัพหลวงมาตีเมืองซึ่งในขณะนั้นมีท้าวแม่นคุณเป็นเจ้าเมือง ต่อมาเมืองแพร่ถูกปกครองโดยอาณาจักรพม่า ก่อนที่พญามังไชยเจ้าเมืองแพร่เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรีทำให้เมืองแพร่อยู่ภายใต้การปกครองของสยามในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ โดยเมืองแพร่ในขณะนั้นมีเมืองขึ้น ๒ เมืองคือเมืองสองและเมืองม่าน ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองแพร่ถือเป็นหนึ่งใน ๕ หัวเมืองประเทศราชที่สำคัญของสยาม
.     เวียงแพร่ได้รับการขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองและพื้นที่ใช้งานภายในเมือง จำนวน ๔ ครั้ง ทำให้เราทราบได้ว่าว่าเวียงแพร่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานทางโบราณคดีโดยสรุป ดังนี้
     - ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ในบริเวณวัดศรีชุม จากการขุดค้นพบเศษภาชนะดินเผาชนิดเคลือบและไม่เคลือบแบบเชลียงจากแหล่งเตารุ่นเก่าเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งพบเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้พบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียว (Celadon) ผลิตจากแหล่งเตาหลงฉวน มณฑลเจ๋อเจียง สมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๓ – ๑๙๑๑) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเคลือบจากแหล่งเตาศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาจากแหล่งเตาพื้นเมืองล้านนา แวดินเผา ร่องรอยหลุมเตาไฟ และเศษถ่านที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ กำหนดอายุชั้นการอยู่อาศัยในระยะแรกนี้อยู่ในช่วงระยะเวลาประมาณพุทธศตวรรษที่   ๑๙ – ๒๐
     - ครั้งที่ ๒ เป็นการขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองแพร่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีหลุมที่ ๑ สรุปการค้นพบหลักฐานได้ว่า “...ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เป็นชิ้นส่วนแตกหักของภาชนะดินประเภทชามหรือจาน ไห ถ้วย โดยในชั้นหลักฐานที่ ๑ ๒ และ ๓ ของหลุมขุดตรวจที่ ๑ พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่งเคลือบสีดำ เคลือบสีเขียวมะกอก เคลือบสีน้ำตาลไหม้ เป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาลำปาง เตาบ่อสวก (จังหวัดน่าน) และเตาเมืองพะเยา ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ – ๒๒ หรือประมาณ ๘๐๐ – ๔๐๐ ปีมาแล้ว ฉะนั้นจึงสามารถกำหนดอายุกำแพงเมืองแพร่ได้ว่าถูกสร้างขึ้นและใช้งาน รวมทั้งพัฒนาขึ้นเป็นกำแพงอิฐตั้งแต่เมื่อประมาณ ๘๐๐ – ๔๐๐ ปีมาแล้ว” อย่างไรก็ตามค่าอายุข้างต้นเป็นการกำหนดอายุเชิงเปรียบเทียบในปัจจุบันมีการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ในแหล่งเตาบ่อสวก จังหวัดน่านและแหล่งเตาเวียงบัว (แหล่งเตาพะเยา) จังหวัดพะเยา เป็นที่แน่ชัดแล้ว โดยกำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน ๑๔ ได้ค่าอายุเตาบ่อสวกอยู่ที่ พ.ศ.๑๘๓๘ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๙  และค่าอายุแหล่งเตาเวียงบัว (แหล่งเตาพะเยา) อยู่ที่ พ.ศ.๑๘๓๓ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๙  ดังนั้นค่าอายุเศษเครื่องถ้วยบ่อสวกและพะเยาที่ขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองแพร่ปี พ.ศ.๒๕๔๖ สามารถช่วยกำหนดอายุกำแพงเมืองแพร่ว่ามีก่อสร้างขึ้นไม่ควรเกินไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๙
     - ครั้งที่ ๓ การขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีประกอบการบูรณะและพัฒนาเจดีย์วัดหลวง ในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่ ๓ โดยดำเนินการขุดค้นบริเวณฐานกำแพงวัดด้านในทางด้านทิศตะวันออกของวัดใกล้ซุ้มประตูโขง จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบเศษเครื่องถ้วยเนื้อแกร่งลายขูดขีดเป็นเส้นคลื่นสีน้ำตาลมีหูปั้นแปะโดยพบในชั้นความลึก 190 – 220 cm.DT  ซึ่งเป็นชั้นดินและชั้นวัฒนธรรมที่ไม่ถูกรบกวน มีลักษณะคล้ายกับเศษเครื่องถ้วยเนื้อแกร่งสีน้ำตาลลายขูดขีดเส้นคลื่นของแหล่งเตาเมืองเชลียงและมีบางส่วนมีลักษณะคล้ายเศษเครื่องถ้วยเนื้อแกร่งชนิดเคลือบแหล่งเตาบ่อสวก เศษเครื่องถ้วยที่พบยังมีลักณะเหมือนกับที่ขุดค้นพบที่วัดศรีชุม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ จากข้างต้นจึงสันนิษฐานได้ว่ามีการใช้พื้นที่ภายในเมืองแพร่อย่างน้อยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒
     - ครั้งที่ ๔ เป็นการขุดค้นทางโบราณคดีกำแพงเมืองบริเวณชุมชนร่องซ้อหรือกำแพงเมืองส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากการขุดค้นชั้นคันดินชั้นแรกสุด ขุดค้นพบเศษภานะดินเผาจากแหล่งเตาสันกำแพง ที่มีแหล่งผลิตบริเวณที่ลาดเชิงเขาแม่น้ำปิง เป็นแหล่งเตาที่มีการผลิตถ้วยชามและจานเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างมาก โดยมักพบเศษเครื่องถ้วยในแหล่งโบราณคดีหลายแหล่งทั่วภาคเหนือของประเทศไทย ลักษณะโดยทั่วไปของแหล่งเตาสันกำแพงจะมีเนื้อดินหยาบสีเทาถึงสีเทาดำมีการใช้น้ำดินสีขาวทารองพื้นบริเวณขอบปากและตัวภาชนะด้านในก่อนนำไปตกแต่งลวดลายหรือเคลือบ เครื่องถ้วยสันกำแพงมีทั้งประเภทเคลือบสีเขียวและสีน้ำตาล หรือเขียนลายสีดำ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ สอดคล้องกับค่าชั้นคันดินชั้นแรกที่นำไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ที่กำหนดอายุด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน (TL Dating) ได้ค่าอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ เช่นเดียวกัน
                   --------------------------------------------
- เอกสารอ้างอิง -
ก่องแก้ว วีระประจักษ์, สายันต์ ไพรชาญจิตร์ และสุภมาศ ดวงสกุล. โบราณคดีล้านนา. กรุงเทพฯ : สมาพันธ์, 2540.
ชอว์, จอห์น. เครื่องปั้นดินเผาไทย .กรุงเทพฯ : โครงการศึกษาเครื่องปั้นดินเผา ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,2534.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร. เครื่องถ้วยศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : โอสถสภา, 2539.
สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน. การบูรณะและพัฒนาโบราณสถานเจดีย์วัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่. น่าน :สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน, 2555.
สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่. สรุปผลการขุดตรวจทางโบราณคดีกำแพงเมืองแพร่. เชียงใหม่ : สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่, 2546.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ เดวิด เค.วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2547.
Praicharnjit, Sayan. Archaeology of Ceramic in LAN NA, Northern Siam. Bangkok : Silpakorn University, 2011.











(จำนวนผู้เข้าชม 2589 ครั้ง)


Messenger