ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองจะนะ ตอนที่ ๓ ยุคประวัติศาสตร์ สมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑-๕)
จะนะสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๑-๕)
            ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เมืองจะนะยังคงตั้งอยู่ที่บ้านท่าใหญ่ โดยมีนายเณรหรืออินทร์น้องชายพระยาพัทลุง(ขุน) พระอนันต์สมบัติ(บุญเฮี้ยว ณ สงขลา) พระมหานุภาพปราบสงคราม(ทิดเพชร) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) ปกครองเมืองจะนะสืบเนื่องต่อกันมา และในสมัยที่พระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) เป็นเจ้าเมืองจะนะแล้วระยะหนึ่งจึงได้ย้ายเมืองจะนะไปตั้งใหม่ที่ปลักจะนะ 
            ต่อมาเมืองจะนะที่ปลักจะนะ ถูกเผาทำลายเมื่อคราวสงครามสยาม-ไทรบุรีในพ.ศ.๒๓๘๑ พระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว) จึงฟื้นฟูขึ้นใหม่โดยตั้งอยู่ที่ตำบลคลองเปียะ (บริเวณบ้านในเมือง) และต่อมาได้ย้ายเมืองอีกครั้งมาตั้งที่ตำบลจะโหนง (บริเวณบ้านในวัง) จนถึงพ.ศ. ๒๔๒๒ หลวงพิทักษ์สงคราม(ปลอด ถิ่นขะนะ) ปลัดเมืองจะนะ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองจะนะ รับพระราชทานราชทินนามตามอย่างเจ้าเมืองจะนะคนก่อนที่ "พระมหานุภาพปราบสงคราม" และได้ว่าราชการอยู่ที่บ้านจะโหนงไปจนถึง พ.ศ.๒๔๓๙ ซึ่งในปีนั้นมีการปรับปรุงรูปแบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล จึงมีการปรับเปลี่ยนฐานะของเมืองจะนะจากเมืองขึ้นของเมืองสงขลามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองสงขลา การปกครองเมืองจะนะในระบบเจ้าเมืองจึงสิ้นสุดลง
เมืองจะนะที่บ้านท่าใหญ่
 เป็นเมืองจะนะที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนถึงราวสมัยรัชกาลที่ ๓ ตัวเมืองตั้งอยู่บ้านท่าใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของคลองนาทวี ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลนาทวี อำเภอนาทวี และได้ตั้งวังเจ้าเมืองในบริเวณที่ตั้งของวัดในวังในปัจจุบัน มีเจ้าเมืองปกครองสืบเนื่องมาคือ นายเณรหรืออินทร์น้องชายพระยาพัทลุง(ขุน) พระอนันต์สมบัติ(บุญเฮี้ยว ณ สงขลา) พระมหานุภาพปราบสงคราม(ทิดเพชร) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง)
เมืองจะนะที่ปลักจะนะ
 พระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) ได้ย้ายเมืองจะนะจากท่าใหญ่มายัง "ปลักจะนะ" แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าย้ายเมืองในปีใด โดยในอักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่ม ๔ ให้รายละเอียดว่าปลักจะนะคือชื่อเดิมของตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ที่ตั้งวังเจ้าเมืองจะอยู่ในบริเวณไหนนั้นไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือให้เห็นแล้ว ทั้งนี้เจ้าเมืองจะนะเมื่อครั้งตั้งเมืองที่ปลักจะนะก็คือพระมหานุภาพปราบสงคราม(เค่ง) และพระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว)  
เมืองจะนะที่ตำบลคลองเปียะ
 เมื่อเมืองจะนะที่ปลักจะนะถูกทำลายในสงครามสยาม-ไทรบุรี พ.ศ.๒๓๘๑ พระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว) ได้ย้ายไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านในเมือง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่หมู่ที่ ๕ บ้านในเมือง ตำบลคลองเปียะ อำเภอจะนะ เล่ากันว่าแต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เรียกว่า "บ้านนายเมือง" โดยที่อยู่ของนายเมืองนั้นเรียกว่า "สายค่าย" ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพาดกับทางรถไฟสายใต้ โดยในปัจจุบันยังคงปรากฏร่องรอยของของแนวคันดินซึ่งอาจใช้เป็นกำแพงเมืองด้านตะวันออก บริเวณริมคลองเฉียงพร้า และบริเวณริมทางรถไฟสายใต้
เมืองจะนะที่ตำบลจะโหนง
 พระมหานุภาพปราบสงคราม(บัวแก้ว) ได้ย้ายเมืองจะนะไปตั้งที่ตำบลจะโหนง โดยไม่ปรากฏว่ามีการย้ายเมืองด้วยเหตุผลใด และต่อมาพระมหานุภาพปราบสงคราม(ปลอด ถิ่นจะนะ) ได้ปกครองเมืองจะนะที่ตำบลจะโหนงสืบต่อมาจนสิ้นสุดระบบเจ้าเมืองในพ.ศ.๒๔๓๙ ในปัจจุบันที่ตั้งเมืองจะนะที่ตำบลจะโหนงตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่หมู่ที่ ๗ บ้านในวัง ตำบลจะโหนง อำเภอจะนะ ร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏอยู่ได้แก่
 ๑.วังเจ้าเมืองจะนะ ตั้งอยู่ริมคลองจะโหนงฝั่งเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่เล่ากันว่าแต่เดิมมีแนวคันดินล้อมรอบ และมีการปลูกต้นไผ่บนคันดินไปตลอดแนว ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดได้เปลี่ยนสภาพเป็นสวนยางพาราไปแล้ว
 ๒.ทุ่งเมรุ หรือที่เรียกในภาษาใต้ว่า "ท่องเมรุ" ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวังเจ้าเมืองจะนะ กล่าวกันว่าพื้นที่ส่วนนี้เคยใช้เป็นลานประหารนักโทษ และยังเป็นสถานที่ตั้งเมรุเผาศพพระมหานุภาพปราบสงคราม (ปลอด ถิ่นจะนะ) ด้วย สภาพในปัจจุบันพื้นที่ส่วนนี้ได้ถูกไถปรับเพื่อใช้ปลูกพืช จากการสำรวจผิวดินพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อดิน เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง รวมทั้งเศษเครื่องด้วยจีน 
 ๓.ที่อาบน้ำช้างของเจ้าเมือง ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวังเจ้าเมืองใกล้กันกับทุ่งเมรุกล่าวกันว่าในอดีตมีสภาพเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และใช้เป็นสถานที่อาบน้ำช้างของเจ้าเมือง แต่ในปัจจุบันมีสภาพเป็นแอ่งน้ำขนาดเล็กริมถนนคอนกรีต โดยมีขนาดกว้าง ๗.๕ เมตร ยาว ๗.๕ เมตร ลึกประมาณ ๑ เมตร และมีการตั้งศาลไว้ข้างหนองน้ำนั้น ๑ แห่ง
 ๔.ในเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองวัดโคกทรายภายในวัดโคกทราย กล่าวกันว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งบัวบรรจุอัฐิบุคคลสำคัญของเมืองจะนะ นั่นคือพระมหานุภาพปราบสงคราม(ปลอด ถิ่นจะนะ) เจ้าเมืองจะนะคนสุดท้าย และท่านแก่พื้นลานด้านตะวันออกของบัวทั้งสองนั้น ในอดีตใช้เป็นสถานที่ฌาปนกิจศพสำหรับพระสงฆ์สำคัญและผู้เฒ่าผู้แก่สูงอายุ สำหรับคนทั่วไปจะไปทำการฌาปนกิจที่บริเวณป่าช้าต้นขามติดกับคลองจะโหนงฝั่งทิศใต้ ห่างจากพื้นที่ในเมรุไปทางทิศเหนือประมาณ ๖๐๐ เมตร 
 ๕.เหมืองสามคด ตั้งอยู่ห่างจากวังเจ้าเมืองจะนะและทุ่งเมรุไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กล่าวกันว่าเดิมเป็นทำนบซึ่งอยู่ในความดูแลของเจ้าเมือง โดยทำนบนี้มีขนาดใหญ่และลึก สร้างขึ้นเพื่อทดน้ำสำหรับแจกจ่ายไปตามเหมืองน้ำในเส้นทางต่างๆเพื่อใช้ในการเพาะปลูกของประชาชน ในปัจจุบันทำนบแห่งนี้ได้ถูกปรับปรุงในพ.ศ.๒๕๔๙ โดยจัดสร้างเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กในชื่อฝายบ้านจะโหนงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งประกอบด้วยตัวฝายและระบบคลองส่งน้ำยาว ๒,๒๕๐ เมตร
......................................................................................................................................
เรียบเรียงข้อมูลและกราฟฟิคโดย นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ  กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: จะนะ3-13.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 4592 ครั้ง)

Messenger