เรือคลองท่อม
เรือคลองท่อม พบในแหล่งโบราณคดีคลองท่อม หรือที่ใครหลายคนรู้จักในชื่อ “ควนลูกปัด” จ.กระบี่ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้สันนิษฐานว่าในอดีตเคยเป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้า ดังนั้นการพบซากเรือจมบริเวณนี้จึงมีความสอดคล้องกับสภาพของแหล่ง
ความพิเศษของเรือลำนี้คือการต่อเรือโดยไม่ใช้ตะปูสักตัวครับ แต่ใช้เทคนิคของการแกะสลักไม้กระดานเรือเป็นลักษณะสันนูนเจาะรูทะลุถึงกัน แล้วใช้เชือกและลิ่มไม้เป็นตัวยึดโครงสร้างเรือทั้งหมดเข้าด้วยกันเทคนิคแบบนี้ถูกเรียกว่า “Lashed-Lug” เป็นลักษณะของเรือที่พบได้ทั่วไปแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงเรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรากฏในบันทึกของชาวจีนราวพุทธศตวรรษที่ ๙-๑๒ ลักษณะเป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ใช้ชื่อเรียกว่า “K’un-lun po” เรือลำดังกล่าวใช้เทคนิคการต่อเรือโดยไม่ใช้ตะปูโลหะ แต่ใช้เชือกที่ทำจากใยมะพร้าวและตะปูไม้ยึดแผ่นไม้กระดานเข้าหากัน สามารถบรรทุกคนได้ราว ๕๐๐-๑,๐๐๐ คน มีขนาดความยาวกว่า ๕๐ เมตร และมีระวางสินค้าตั้งแต่ ๒๕๐-๑,๐๐๐ ตัน ส่วนบันทึกของชาวยุโรปโดยหลวงพ่อ Nicolau Perreira เขียนเมื่อคริสตศักราช ๑๕๘๒ หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๖ บรรยายลักษณะของเรือขนส่งสินค้าบริเวณหมู่เกาะชวา ในบันทึกใช้คำเรียก จังโก “Junco” กล่าวว่าเรือบางลำนั้นมีขนาดใหญ่เทียบเท่าเรือ Naus ของโปรตุเกส และไม่ใช้ตะปูเหล็กในการตอกหรือยึดไม้เข้าด้วยกัน แต่ใช้ตะปูไม้ซึ่งยึดอยู่ภายในไม้กระดานเปลือกเรือ เรือจังโกมีเสากระโดงเรือสองต้น ผ้าใบเรือใช้หวายทอเป็นผืน เรือมีหางเสือบังคับทิศทางทั้งหมด ๓ ใบ ด้านข้างสองจุด ตรงกลางหนึ่งจุด
จากบันทึกดังกล่าวเห็นว่าเรือที่ถูกกล่าวถึงเป็นเรือเดินสมุทร ซึ่งมีขนาดใหญ่ ระวางบรรทุกเยอะ แตกต่างกับซากเรือจมคลองท่อม ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเรือขนาดเล็ก-กลาง แต่สิ่งที่มีคล้ายคลึงกันคือเทคนิคในการต่อเรือ จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่าในช่วงสมัยหนึ่งเรือที่ใช้เทคนิคแบบ “Lashed-Lug” อาจใช้กันอย่างแพร่หลายในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะบริเวณแถบหมู่เกาะ ซึ่งอาจมีได้ทั้งขนาดเล็ก-กลางที่ใช้สัญจรในลำน้ำ และขนาดใหญ่สำหรับเดินสมุทร
คลังภาพเรือคลองท่อม
คลังภาพเรือคลองท่อม
(จำนวนผู้เข้าชม 1989 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน