...

เขานางชี : จิตรกรรมศิลปะพม่าสมัยอังวะบนแผ่นดินพัทลุงสมัยอยุธยา
เขานางชี  : จิตรกรรมศิลปะพม่าสมัยอังวะบนแผ่นดินพัทลุงสมัยอยุธยา
 
ที่ตั้งเขานางชี
          เขานางชี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ ๔ บ้านทุ่งข่า ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 
กำเนิดเขานางชี
          เขานางชีเป็นเขาหินปูนในหมวดหินชัยบุรี ถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคไทรแอสซิกซึ่งมีอายุราว ๒๑๐ - ๒๔๕ ล้านปีมาแล้ว เขานางชีวางตัวในแนวทิศเหนือ – ทิศใต้ มีความยาวประมาณ ๙๘๐ เมตร กว้างประมาณ ๔๗๐ เมตร จุดสูงสุดสูง ๑๓๖ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ตำนานเขานางชี
          มีตำนานในท้องถิ่นเล่าสืบกันมาว่า เขานางชีมีถ้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของนางชีซึ่งเป็นคนธรรพ์ ทำหน้าที่ดูแลมนุษย์ และทอผ้ารอถวายพระศรีอาริย์ ทุกวันขึ้นและวันแรม ๑๕ ค่ำ จะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงคนกำลังทอผ้าลอยแว่วมา ในสมัยก่อนเมื่อเด็กเลี้ยงวัว นำวัวมาเลี้ยงใกล้ถ้ำ นางชีจะหย่อนอาหารถาดทองเหลืองให้เด็กๆได้กินเป็นประจำ แต่เนื่องจากความซุกซนของเด็กซึ่งไปร้องเพลงว่า "...แม่ชี แม่ชี หมียิก แล่นขึ้นปลายจิก หมียิกแม่ชี..." และมีเด็กคนหนึ่งถ่ายอุจจาระใส่ถาดทองเหลืองของแม่ชี ทำให้แม่ชีไม่พอใจ จึงปิดประตูถ้ำ และไม่ออกมาทอผ้า และนำอาหารออกมาให้เด็กๆกินอีกเลย
ถ้ำพระเขานางชี
          บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกค่อนไปทางใต้ ปรากฏ "ถ้ำพระเขานางชี" มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูน ภายในถ้ำประกอบด้วยคูหาถ้ำ ๒ คูหาซึ่งมีทางเชื่อมต่อกัน คูหาแรกมีปากถ้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปากถ้ำกว้างประมาณ ๖ เมตร สูงประมาณ ๑๐ เมตร และมีความลึกถึงก้นถ้ำประมาณ ๔๓ เมตร ส่วนคูหาที่สองมีปากถ้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ปากถ้ำกว้างประมาณ ๓ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร มีความลึกถึงจุดเชื่อมต่อภายในถ้ำประมาณ ๑๐ เมตร 
จิตรกรรมศิลปะอังวะ
  ภายในถ้ำพระเขานางชีพบภาพจิตรกรรมบนผนังจำนวน ๑๐ จุด เขียนภาพด้วยสีแดง เหลือง และตัดเส้นด้วยสีดำ คิดเป็นพื้นที่ ๒๔.๐๖๕ ตารางเมตร ภาพเหล่านี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเขียนขึ้น แต่มีปรากฏมาตั้งแต่ก่อนรุ่นปู่ย่าตายายแล้ว จากการศึกษาพบว่าภาพที่ปรากฏเหล่านี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตพุทธเจ้า และพระไสยาสน์ ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะพม่าสมัยอังวะตอนปลาย ซึ่งร่วมสมัยกับสมัยอยุธยาตอนกลาง 
จารึกบนผนังถ้ำ
          ที่ผนังถ้ำพระเขานางชี พบจารึกอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยาเขียนคำว่า “โนกรรม” ซึ่งสันนิษฐานว่าย่อมาจากคำว่า “มโนกรรม” ซึ่งเป็นหลักธรรมใน “กุศลกรรมบถ” และคำว่า “พระพุทธเจ้าห่อนรู้ผู้ชำนะมาร”
โบราณสถานของชาติ
   พ.ศ.๒๕๖๔ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขานางชี พื้นที่โบราณสถาน ๑๕๔ ไร่ ๑๔.๙๘ ตารางวา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๘ง หน้า ๒๓ ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๔ นับเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนพร้อมกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานแห่งล่าสุดของจังหวัดพัทลุง
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เขานางชี13.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 1602 ครั้ง)