กำเนิดเวียงกุมกาม
"กำเนิดเวียงกุมกาม"
...แค่ช่วงเวลาการกำเนิดเมืองทุกท่านอาจจะคิดว่าไม่น่าจะไม่มีอะไรมากนัก แต่ที่เวียงกุมกามไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงตั้งเมืองหรือช่วงสมัยพญามังราย ประวัติศาสตร์ของเวียงกุมกามถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์มากที่สุด วันนี้พี่ไมค์จะมานำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเวียงกุมกามในสมัยพญามังรายก่อนอื่นเราไปดูกันว่าในตำนานสิบห้าราชวงศ์กล่าวถึงเวียงกุมกามไว้ว่าอย่างไรบ้าง
-----พี่ไมค์สามารถถอดความจากตำนานสิบห้าราชวงศ์ได้ว่า “...เมื่อศักราช 648 พญามังรายได้สร้างเวียงกุมกาม โปรดให้ขุดคูเวียงทั้งสี่ด้าน ผันน้ำปิงเข้าใส่ สร้างบ้านสร้างเรือนสร้างพระราชวัง โปรดให้ขุดหนองชื่อ หนองต่าง โดยสร้างที่นี้เพื่อเป็นแหล่งค้าขาย วันหนึ่งพญามังรายปลอมพระองค์ไปสังเกตชาวบ้าน นั่งอยู่ริมน้ำปิงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พบเรือชนกันล่ม จึงโปรดให้สร้างสะพานกุมกาม...ต่อมาเมื่อศักราช 650 พระองค์โปรดให้สร้างเจดีย์ เพื่อเป็นที่ไหว้และบูชา จึงให้เอาดินจากหนองต่างมาก่อเจดีย์กู่คำ...ตามตำนานยังกล่าวถึงตำนานการสร้างวัดกานโถมไว้ว่า ที่แห่งนี้เคยมีต้นเดื่อเป็นที่สักการะบูชาโดยทั่วไป ใครมาขอสิ่งใดก็มักจะสมปรารถนา ต่อมาต้นเดื่อตายลงแต่คนก็ยังไปสักการบูชา ณ ที่แห่งนั้น จนกระทั่งในสมัยที่พญามังรายมาสร้างเวียงกุมกาม ได้มีพระมหาเถร 5 รูป โดยมีพระชื่อมหากัสสปะเป็นหัวหน้า เล็งเห็นว่าที่แห่งนี้มีความสงบ จึงเลือกเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อพญามังรายมายังที่แห่งนี้ก็แล้วได้สนทนากับพระท่านก็เกิดความเลื่อมใสขึ้น จึงโปรดในช่างชื่อกานโถมสร้างพระพุทธรูป 5 องค์...”
-----จากย่อหน้าที่ผ่านมา พี่ไมค์สามารถแยกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเวียงกุมกามได้ดังนี้
1.ศักราชที่สร้างเวียงกุมกาม
2.ผังเวียงกุมกาม (คูน้ำ-คันดิน)
3.วิถีชีวิตของคนในเวียงกุมกาม
ทุกท่านสามารถอ่านรายละเอียดในแต่ละเรื่องโดยคลิ๊กภาพด้านล่างแล้วเลื่อนไปทีละรูป..
1.ศักราชที่สร้างเวียงกุมกาม
ตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่า เวียงกุมกาม สร้างขึ้นในศักราช 648 หรือ พุทธศักราช 1829 ยกตัวอย่างเช่น
ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่
“...ถึงปีระวายเส็ดศักราชได้ 648 ตัว เจ้าพระยามังรายย้ายมาสร้างเวียงกุมกาม หื้อขุดเวียงที่สี่ด้าน ไปเอาน้ำระมิงค์เข้าใส่ คือ ตั้งลำเวียงรอดทุกเบื้อง ตั้งบ้านเรือนอยู่มากนัก...”
พงศาวดารภาคที่ 61
“...ถึงศักราช 648 ตัว ปีระวายเสดพระยามังรายเจ้า ก็ยกเอาหมู่รี้พลไปตั้งอยู่บ้านเชียงกู่มกวม แม่น้ำระมิง...”
พงศาวดารโยนก
“...ครั้นถึงปีจอ อัฐศกจุลศักราช 648 พระยาเมงรายจึงย้ายสถานมาสร้างเวียงกุมกาม ณ ที่ใกล้น้ำระมิงค์ (พิงค์)...”
ยกเว้นชินกาลมาลีปกรณ์ที่จะกล่าวว่า พญามังรายสร้างเวียงกุมกาม ในปีพุทธศักราช 1846 ดังความว่า
“...ต่อจากได้ชัยชนะเจ้าญีบาแล้ว พระเจ้ามังรายได้สร้างนครกุมกาม เมื่อจุลศักราช 665...”
ทั้งนี้มีนักวิชาการเสนอว่าปีที่สร้างเวียงกุมกามน่าจะเป็นปีพุทธศักราช 1837 ท่านสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ “เวียงกุมกาม การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนโบราณในล้านนา” เขียนโดย สรัสวดี อ๋องสกุล
2.ผังเวียงกุมกาม (คูน้ำ-คันดิน)
จากภาพถ่ายทางอากาศปีพุทธศักราช 2497 จะเห็นว่าผังเวียงกุมกามมีรูปเป็นสี่เหลี่ยม วางตัวตามทิศตะวันออกเฉียงใต้-ทิศตะวันตกเฉียงเหนือเรียบไปกับแม่น้ำปิงสายเดิม (ปิงห่าง) และเอกสารที่สนับสนุนว่าเวียงกุมกามมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมคือตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า “...หื้อขุดเวียงที่สี่ด้าน ไปเอาน้ำระมิงค์เข้าใส่...” และจากข้อความดังกล่าวยังเป็นตัวสนับสนุนว่าเวียงกุมกามน่าจะมีคูน้ำและคันดิน
ทั้งนี้มีนักวิชาการอธิบายถึงเหตุผลที่พญามังรายเลือกทำเลที่ตั้งเป็นที่ลุ่มต่ำไว้ว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากหริภุญชัย โดยทำเลแห่งนี้มีประโยชน์คือ เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับลำน้ำปิงสายเดิมทำให้มีความสะดวกในเรื่องคมนาคม ซึ่งสามารถทำให้ชุมชนที่ตั้งอยู่สามารถพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ได้ในภายหลัง สามารถพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมได้เนื่องจากตั้งอยู่ติดกับลำน้ำปิงและมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ตำแหน่งของเวียงกุมกามตั้งอยู่ค่อนกลางอาณาจักล้านนาทำให้สะดวกต่อการปกครองเมืองต่าง ๆ
ที่มาภาพ : เพจ Archaeology 7 Chiang Mai
3.วิถีชีวิตของคนในเวียงกุมกาม
จากตำนานต่าง ๆ ได้บ่งชี้ให้เห็นเรื่องราวที่โดดเด่นของผู้คนในเวียงกุมกามไว้ดังนี้
- ศูนย์กลางการค้า
เนื่องจากภูมิประเทศและทำเลที่เอื้ออำนวย ทำให้เวียงกุมกามกลายเป็นศูนย์กลางการค้า ตามตำนานกล่าวถึงกาดกุมกามไว้คือ “...เจ้ามังรายร่ำเปิงว่าไพร่กูนี้ยังสุขทุกข์เป็นอย่างใดใคร่รู้จึงแต่งตัวปลอม ถือกุ๊บตองตึง นุ่งผ้าผืนค่าร้อยคำภายใน นุ่งผ้าไทยภายนอก ไปเข้ากาดกุมกามนั่งอยู่แม่น้ำปิงอว่ายหน้าเมือวันออก (หันหน้าไปทางทิศตะวันออก) เล็งดูคนทั้งหลายเข้ากาด แล้วลงอาบน้ำปิง...” และ “...วันนั้นเจ้ามังรายหัน (เห็น) ชาวแช่ช้างเชียงเรือ (สันกำแพง) ที่มากาดกุมกาม เรือล่มสองเล่มสามเล่มทุกวัน เจ้ามังรายคะนึงใจว่าไพร่กูบ่ว่าตายอั้นแล จึงแปงขัวกุมกามแต่นั้นมาแล...”
- ความเชื่อ
ตามตำนานสิบห้าราชวงศ์สื่อให้เห็นว่า ณ เวียงกุมกาม มีความเชื่อท้องถิ่นมาก่อน คือการเชื่อถือต้นเดื่อที่เคยอยู่บริเวณวัดกานโถม ต่อมาเมื่อมีพระมหาเถรมาบำเพ็ญสมณธรรมที่นี้ จึงได้สร้างวัดกานโถมขึ้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า พญามังรายได้ผสานเอาความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับศาสนาพุทธ เนื่องจากเวียงกุมกามมีพลเมืองหลากหลายเชื่อชาติ คือ ลัวะ เมง เป็นต้น โดยเชื่อว่าชาวลัวะนับถือผีปู่แสะย่าแสะ ชาวเมงนับถือพุทธศาสนา ชาวไทนับถือผีปู่ย่าและผีแถน การนับถือศาสนาพุทธของพญามังรายยังเห็นได้จากการโปรดให้ก่อเจดีย์กู่คำตามตำนาน
(จำนวนผู้เข้าชม 6398 ครั้ง)