บทความเรื่อง "ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)"
ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)
ก่อร่างสร้างตึก
ตึกเดชะปัตตนยานุกูลหรือตึกขาวสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๕ โดยมหาเสวกโทพระยาเดชานุชิต สยามิศร์ภักดีพิริยะพาหะ (หนา บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี และคุณหญิงเดชานุชิต(แหม่ม) ได้ชักชวนบรรดาข้าราชการ พ่อค้า และราษฎร บริจาคเงินรวมเข้ากับเงินบำรุงการศึกษารวมเป็นเงิน ๑๒๕,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนถาวรหลังแรกของโรงเรียนสตรีปัตตานีที่เริ่มเปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๖
กำเนิดชื่อ “ตึกเดชะปัตตนยานุกูล”
เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ มหาอำมาตย์ตรีพระยาเดชานุชิต สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลปัตตานี มีหนังสือถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ แจ้งการสร้าง ตึก ๒ ชั้นขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร แบ่งเป็นห้องเรียน ๘ ห้อง โดยมีกำหนดเปิดและทำบุญฉลองราวต้นเดือนตุลาคม ๒๔๖๕ ขอให้กระทรวงตั้งนามตึกนี้ด้วย และเสนาบดีให้ใช้ชื่อว่า "เดชะปัตตนยานุกูล" โดยมีที่มาจากคำว่า เดชา + ปัตนะ + อนุกูล แต่ชาวเมืองเรียกอาคารหลังนี้ว่า "ตึกขาว" ตามลักษณะของอาคารซึ่งมีผนังสีขาวทั้งหลัง และในครั้งนั้นได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น โรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล
ตึกขาวกับการศึกษา
ตึกเดชะปัตตนยานุกูลได้ใช้เป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๕๖ – ๒๔๘๖ หลังจากนั้นเมื่อมีการย้ายที่ตั้งของโรงเรียนสตรีปัตตานีเดชะปัตตนยานุกูล ไปยังที่ตั้งในปัจจุบันแล้ว ตึกหลังนี้ได้ใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยยุวชนทหาร ที่ทำการศึกษานิเทศก์จังหวัดปัตตานี และสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี ตามลำดับ
การขุดค้นทางโบราณคดี
กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่ตึกขาวในพ.ศ.๒๕๖๐ ผลการขุดค้นพบว่า อาคารหลังนี้ เป็นอาคารแบบตะวันตกก่ออิฐถือปูน ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๐.๒๐ เมตร ยาว ๑๔.๗๐ เมตร ระดับพื้นดินใช้งานเดิมตึกขาวอยู่ลึกลงไปในดินอีกราว ๙๐ เซนติเมตร และลึกลงไปเป็นชั้นถมอัดด้วยดินเหนียวและเศษอิฐหักซึ่งเป็นกิจกรรมการถมและบดอัดพื้นที่เมื่อครั้งก่อสร้างตึกขาว
ในพ.ศ.๒๔๖๕ ชั้นดินนี้หนาประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ในส่วนของอาคารนั้นบริเวณประตูทางเข้าซึ่งหันไปทางทิศทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีบันไดปูนประกอบชุดพนักบันได ๑ ชุด โดยหน้าบันไดกว้าง ๒.๕๐ เมตรสอบเข้า ช่องประตูกว้าง ๑.๘๕ เมตร มีขั้นบันได ๔ ขั้น ลูกบันไดกว้างขั้นละ ๓๐ เซนติเมตร เป็นทางขึ้นอาคาร นอกจากนี้ยังพบการเจาะช่องระบายอากาศบนผนังส่วนล่างรอบอาคารจำนวนทั้งสิ้น ๑๗ ช่อง ประกอบด้วยช่องด้านหน้าและด้านข้างฝั่งละ ๔ ช่อง ส่วนด้านหลังพบจำนวน ๕ ช่อง โดยสันนิษฐานว่าอาจจะมีอีก ๑ ช่องแต่ถูกปิดไปโดยบันไดที่สร้างขึ้นภายหลังแล้ว ทั้งนี้ตำแหน่งช่องระบายอากาศเหล่านี้จะอยู่ตรงกับช่องหน้าต่างทุกช่อง
นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการตอกเสาเข็มไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เซนติเมตร แล้ววางอิฐเป็นฐานรากอาคาร ก่อขึ้นไปเป็นผนังก่อนที่จะวางโครงสร้างไม้ที่สานเป็นพื้น เสา และโครงสร้างหลังคาด้านบน
การบูรณะตึกขาว
เมื่อสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดปัตตานี ย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ ตึกขาวไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาใช้พื้นที่อีก ทำให้ตึกขาวอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ กรมศิลปากรได้รับอนุมัติงบประมาณ เพื่อดำเนินการบูรณะตึกขาว การดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐
ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานตึกขาวในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๖ ตอนพิเศษ ๗ง หน้า ๔ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๒ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ งาน ๖.๖๗ ตารางวา
เรียบเรียงโดย I นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ I กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: ตึกเดชะปัตตนยานุกูล (ตึกขาว)11.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 2188 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน