แหล่งภาพเขียนสี "เขาแบนะ"
แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ
ประวัติ : “เขาแบนะ” เป็นเขาหินปูนลูกโดดขนาดเล็ก ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมของหาดฉางหลางในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ภาพเขียนสีตั้งอยู่บริเวณเพิงผาด้านทิศเหนือของเขา เมื่อน้ำทะเลลดระดับลง เขาแบนะจะมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของปลายแหลม สามารถเดินเท้าไปชมภาพเขียนสีได้ โดยตัวภาพจะอยู่สูงกว่าระดับพื้นทรายประมาณ ๕ เมตร แต่หากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง เขาแบนะจะกลายเป็นเกาะสามารถเดินทางไปชมด้วยเรือ ตัวภาพจะอยู่ในระดับที่สามารถเอื้อมถึง ภาพเขียนสีได้รับการสำรวจโดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๓ สำรวจพบภาพเขียนสีและชิ้นส่วนภาชนะดินเผา
จากลักษณะของพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเวิ้งอ่าว เหมาะแก่การจอดเรือเพื่อพักระหว่างเดินทางหรือหลบกระแสลม คนโบราณจึงเลือกใช้พื้นบริเวณนี้ สร้างสรรค์ผลงานภาพเขียนสีเพื่อบอกเล่าเรื่องราวหรือเพื่อประกอบพิธีกรรม กำหนดอายุตัวภาพเขียนสีให้อยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ประมาณ ๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ภาพเขียนสีเขาแบนะจึงเป็นตัวแทนแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน กำหนดอายุอยู่ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว ๔,๐๐๐ – ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว
สิ่งสำคัญ
ภาพเขียนสีเขาแบนะ เขียนด้วยสีแดง ใช้เทคนิคร่างโครงภายนอกและตกแต่งลวดลายเป็นลายเส้นหรือระบายสีทึบภายใน
ลักษณะภาพ เป็นภาพเขียนสีรูปปลา จำนวน ๒ ตัว คว่ำหัวลง ลักษณะการเขียนภาพเขียนเป็นเส้นโครงร่าง และทำเป็นเส้นลายทางด้านในตัวปลา ส่วนหัวกับส่วนหางระบายสีแดงทึบ ด้านล่างของปลาเป็นภาพเขียนสี มีสภาพค่อนข้างลบเลือน โดยมีการระบายสีด้านในทึบ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นอุปกรณ์จับปลา บางท่านสันนิษฐานว่าเป็นรูปสัตว์คล้ายเสือ ถัดลงไปด้านล่างทางด้านขวามือ (ของผู้ชมภาพ) เป็นภาพเขียนสีมีลักษณะคล้ายสัตว์ระบายสีทึบแต่เนื่องจากภาพมีสภาพค่อนข้างลบเลือนทำให้ไม่สามารถเห็นภาพชัดเจน
ดาวน์โหลดไฟล์: แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: แหล่งภาพเขียนสีเขาแบนะ5.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 3098 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน