ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงกุมกาม
ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงกุมกามซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญของล้านนากับความเป็นอยู่ของชุมชนในปัจจุบัน •
...#วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเวียงกุมกาม
หลังจาก พ.ศ.๒๓๑๗ เป็นต้นมา แม่น้ำปิงได้เปลี่ยนร่องน้ำมาไหลในแนวปัจจุบัน ทำให้แม่น้ำปิงไม่ไหลผ่านเวียงกุมกาม เวียงกุมกามจึงหมดความสำคัญลง เพราะการเจริญเติบโตของชุมชนในอดีตจะขี้นอยู่กับเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะทางน้ำเป็นสำคัญ ในขณะที่ชุมชนเวียงกุมกามได้ลดความสำคัญลง ชุมชนท่าวังตาลซึ่งอยู่ริมแม่น้ำปิงกลับมีความสำคัญขึ้นมาแทนที่เวียงกุมกาม และมีฐานะเป็นท่าน้ำลึก การเดินทางไปมาระหว่างเชียงใหม่ - กรุงเทพฯ จะต้องมาขึ้น - ลงเรือที่ท่าวังตาล ชุมชนท่าวังตาลจึงขยายตัวเป็นชุมชนใหญ่ เกิดการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานที่อยู่ตามแนวริมน้ำปิงเก่า เรียกว่า "ปิงห่าง" โดยขยายชุมชนจากวัดกู่คำ (วัดเจดีย์เหลี่ยม) บริเวณท่าวังตาลผ่านวัดศรีบุญเรือง ผ่านเข้าเวียงกุมกามไปจรดถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน (สายเก่า)
เวียงกุมกามนั้นเริ่มเป็นชุมชนอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่เป็นเพียงชุมชนเล็กๆที่ไม่ขยายตัวเป็นศูนย์กลางความเจริญได้อีก เพราะเส้นทางคมนาคมที่สำคัญได้เปลี่ยนไปจากการใช้การคมนาคมทางน้ำ ก็มีการคมนาคมทางบก มีถนนมาแทน การย้ายเข้ามาอยู่อาศัยภายในเวียงกุมกามของประชาชนจึงมีน้อย แต่อย่างไรก็ตามชุมชนเดิมที่อยู่กันได้หันมาบูรณะซ่อมแซมวัดกานโถม ให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของหมู่บ้านภายใต้การตั้งชื่อใหม่ว่า "วัดช้างค้ำ" ต่อมาหมู่บ้านแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า "บ้านช้างค้ำ" ประชาชนที่อยู่อาศัยในเวียงกุมกามเป็นคนเมือง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาทำสวน อยู่กันอย่างสงบสุขเป็นสังคมหมู่บ้านเล็กๆ
วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเวียงกุมกามในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างไปจากเดิม จากสังคมชนบทที่เป็นสังคมเกษตรกรรมที่อยู่กันอย่างเรียบง่ายมาเป็นสังคมเมืองที่มีความเจริญ และทันสมัยเข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะบริเวณที่อยู่ใกล้ตัวเมืองหรือบริเวณริมถนนสายสำคัญ เนื่องจากได้รับอิทธิพลขยายตัวของความเจริญของตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นสังคมเมืองอย่างเต็มรูปแบบนั่นเอง แต่ก็ยังคงมีประชาชน ส่วนที่ยังคงอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ คือการทำเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนลำไย และมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายซึ่งจะพบได้ในบริเวณรอบในที่ไกลจากตัวเมืองหรือบริเวณพื้นที่ที่ไม่ติดกับถนนสายสำคัญ
อ้างอิง : เวียงกุมกาม แหล่งอารยธรรมและมรดกของล้านนา
ที่มารูปภาพ : Slow life Chiangmai ชุมชนคนสายชิล
(จำนวนผู้เข้าชม 1113 ครั้ง)