เทวสถานปรางค์แขก
++ เทวสถานปรางค์แขก ++
ที่ตั้ง : ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
สิ่งสำคัญ ๑.ปรางค์ ๓ องค์ก่อด้วยอิฐ ๒. วิหาร ๓. ถังเก็บน้ำ
ประวัติและความสำคัญ : เทวสถานปรางค์แขก ตั้งอยู่ระหว่างพระนารายณ์ราชนิเวศน์กับบ้านหลวงรับราชฑูตไม่ห่างจากปรางค์สามยอดมากนัก เดิมเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ประกอบด้วยปรางค์ก่ออิฐ ๓ องค์ ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ – ใต้ ปรางค์องค์กลางขนาดใหญ่สุดขนาบข้างด้วยปรางค์ขนาดเล็ก ๒ องค์ ปรางค์ทั้งสามมีประตู เข้า-ออก ทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว อีกสามด้านเป็นประตูหลอก
.
กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ เนื่องจากมีลักษณะการก่อสร้างและลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับปรางค์ในศิลปะเขมรแบบพะโค (พ.ศ. ๑๔๒๕ – ๑๔๓๖) คือ เป็นปรางค์ก่ออิฐไม่สอปูนเชื่อมต่อกันด้วยยางไม้กรอบประตูศิลาเข้ากรอบเลียนแบบเครื่องไม้
.
ปรางค์แขกคงจะได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ด้วยอิฐ
สอปูน ซึ่งเข้าใจว่ากระทำในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมกับสร้างวิหารเล็กหน้าปรางค์ ซึ่งมีประตูทางเข้าแบบโค้งแหลมและถังเก็บน้ำทางด้านใต้ขององค์ปรางค์
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และ พ.ศ. ๒๕๒๑ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่ง และบูรณะปรางค์แขกอีกครั้งหนึ่ง นับว่าปรางค์แขกเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี
พื้นที่โบราณสถาน : ๓ งาน ๘๕ ตารางวา
ลักษณะรูปแบบศิลปกรรม : สมัยลพบุรี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
ลักษณะการถือครองที่ดินหรือผู้ดูแล : กรมศิลปากร
การขึ้นทะเบียน : ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ ตอนที่ ๒๔ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๔๗๙
(ที่มา : ทะเบียนโบราณสถานในเขตสำนักศิลปากรที่ ๔ ลพบุรี)
(จำนวนผู้เข้าชม 3799 ครั้ง)