...

โบราณสถานหมายเลข 1


เป็นกลุ่มอาคาร ส่วนใหญ่ยึดแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตกเป็นหลัก โดยเมื่อผ่านประตูเมืองด้านทิศตะวันออกเข้าไป ๒๒๗ เมตร ก็จะถึงชานศิลาแลง ลักษณะเป็นชานศิลาแลงรูปกากบาท ตัวชานทำเป็นฐานเขียงลดชั้นขึ้นมาเป็นเส้นลวดและฐานบัวคว่ำ มีหน้ากระดานเป็นลูกฟัก ส่วนบนทำเป็นกระดานเรียบ ปลายด้านทิศตะวันตกต่อกับประตูทางเข้าซุ้มกำแพงแก้ว ปลายด้านทิศตะวันออก เหนือและใต้ทำเป็นบันไดทางขึ้น ที่ขอบชานโดยรอบสกัดเป็นร่องตื้นๆ กว้างประมาณ ๑ ฟุต ยาวขนานไปกับขอบของชานคล้ายว่าจะทำเป็นระเบียงขอบชาน หรือเปรียบเทียบกับโบราณสถานขอมที่อื่นๆ แล้วก็คือราวสะพานนาค หรือระเบียงอาจเป็นเพราะสร้างไม่เสร็จหรือชำรุดสูญหายไปหมดแล้ว

ถัดจากสะพานนาคเป็นกำแพงแก้ว ซึ่งเป็นกำแพงแก้วล้อมรอบปราสาท ขนาดกว้าง ๘๑.๒๐ เมตร ความยาวโดยรอบ ๙๗.๖๐ เมตร กำแพงส่วนใหญ่พังเกือบหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือแนวกำแพงที่สมบูรณ์อยู่เป็นบางตอน ที่ตรงกลางของกำแพงด้านตะวันออกและตะวันตกเป็นช่องประตูทางเข้าด้านหน้าและด้านหลัง

ผ่านกำแพงแก้วเข้าไปจะเป็นลานศิลาแลงสี่เหลี่ยมกว้าง ๒๓.๖๐ เมตร และยาว ๒๕.๖๐ เมตร เป็นลานทางเดินประกอบด้วยแนวทางเดิน ๓ แนว ซึ่งเชื่อมต่อกันและตัดกันเป็นรูปกากบาท แนวทางเดินดังกล่าวยกสูงจากระดับพื้นเล็กน้อย จึงทำให้เกิดเป็นแอ่งตื้นๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสคั่นอยู่ระหว่างแนวทางเดิน เป็นจำนวน ๔ แอ่ง ขนาดกว้าง ๑.๖๐ เมตร ยาว ๒.๐๐ เมตร ลึก ๑๕ ซ.ม. รอบๆ แอ่งมีหลุมสี่เหลี่ยมประมาณ ๓๔-๓๕ หลุมเรียงกันเป็นระยะ สันนิษฐานว่าคงจะเป็นหลุมเสารองรับหลังคาคลุมทางเดินกากบาท ลานทางเดินนี้เชื่อมระหว่างบันไดทางขึ้นโคปุระด้านทิศตะวันออกกับประตูกำแพงแก้ว

ถัดจากลานหน้าปราสาทมีบันไดขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาทหลังเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยระเบียงคด ขนาดด้านตะวันออกและตะวันตก ยาวประมาณ ๓๖.๔๐ เมตร ส่วนด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาว ๔๒.๕๐ เมตร และตรงกลางของระเบียงคดแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระซึ่งมีลักษณะระเบียงคด โคปุระด้านหน้าเหลือส่วนยอดด้านหน้าเพียงด้านเดียว โคปุระด้านทิศเหนือและทิศใต้พังทลายจนเหลือแต่ฐาน โคปุระที่สมบูรณ์ที่สุดคือโคปุระด้านหลังหรือด้านทิศตะวันตก ลักษณะของโคปุระมีองค์เรือนธาตุเป็นฐานบัวคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานเขียงมีเส้นลวดสามเส้นรัดโดยรอบ ส่วนบนของโคปุระทำเป็นชั้นรัดเกล้าซ้อนกัน ๓ ชั้น ต่อจากชั้นรัดเกล้าทำเป็นลักษณะโค้งมนคล้ายบัวคว่ำแล้วจึงต่อยอดสุดด้วยอัมลกะหรือหมวกแขก ลักษณะเป็นแฉกๆ คล้ายกลีบดอกไม้

จากโคปุระด้านทิศตะวันออกจะเป็นทางผ่านเข้าสู่มุขด้านหน้าของปราสาทประธาน ซึ่งเป็นลานปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อระหว่างปราสาทประธานกับโคปุระ (ซุ้มประตู) ด้านทิศตะวันออกที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของลานนี้ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือที่เรียกว่าบรรณาลัย ขนาดกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๕.๕๐ เมตร ฐานเป็นบัวคว่ำมีช่องประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตกเพียงด้านเดียว ผนังด้านทิศตะวันออกทำเป็นประตูหลอก ที่ผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ทำเป็นช่องแสงเล็กๆ ด้านละ ๔ ช่อง ส่วนบนของอาคารพังทลายไปหมด

กึ่งกลางของอาคารนี้เป็นปราสาทประธาน ลักษณะเป็นปราสาทองค์เดียวตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ ๒๐ ขนาดกว้าง ๑๓.๒๐ เมตร มีมุขยื่นออกไปรับกับมุขด้านในของโคปุระทั้ง ๔ ทิศ มุขด้านทิศตะวันออกมีขนาดยาวกว่าด้านอื่นๆ ตัวปราสาทตั้งอยู่บนฐานปัทม์หรือบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น เรือนธาตุเป็นฐานบัวคว่ำ บริเวณส่วนบนขององค์เรือนธาตุและส่วนยอดขององค์ปราสาทพังทลายหมด มีบันไดทางเข้าที่มุขด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือและทิศใต้

จากภายในองค์ปราสาทด้านทิศเหนือมีรางน้ำมนต์รองรับน้ำสรงรูปเคารพหรือน้ำมนต์ ให้ไหลออกมาด้านนอก และมีแอ่งรับน้ำปรากฏอยู่ที่บริเวณฐานด้านตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ปราสาทประธาน นอกจากนี้ที่ผนังด้านนอกของมุขด้านทิศตะวันตกยังมีร่องรอยการถากศิลาแลง อาจทำเป็นหน้าต่างหลอก และที่ด้านหน้าองค์ปราสาทมีฐานประติมากรรม ๒ ชิ้น ทำด้วยหินทรายตั้งอยู่ ด้านหลังของปราสาทประธานเป็นโคปุระและระเบียงคดด้านทิศตะวันตก กำแพงแก้วด้านทิศตะวันตก และชานปูด้วยศิลาแลงเป็นรูปกากบาท มีลักษณะเช่นเดียวกับชานด้านหน้า โดยมีปลายด้านหนึ่งเชื่อมกับซุ้มประตูกำแพงแก้วเช่นเดียวกัน
 
       
  

      




(จำนวนผู้เข้าชม 3155 ครั้ง)


Messenger