จัดแสดงประวัติความเป็นมาและศิลปวัฒนธรรมของกลุ่มชนต่างๆที่อาศัยในจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยมีกลุ่มชนสำคัญๆ ได้แก่ ชายไทยพื้นบ้าน ชาวไทยเชื้อสายจีน ชายไทยเชื้อสายละว้าชายไทยเชื้อสายลาวครั่ง ชายไทยเชื้อสายลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ฯลฯ โดยใช้สื่อเป็นหุ่นรูปบุคคลเชื้อสายต่างๆ ขนาดเท่าจริงประกอบฉากบ้านเรือนและเสียงบรรยายร่วมกับสื่อระบบโสตทัศนูปกรณ์
ดินแดนพื้นที่ของจังหวัดสุพรรณบุรีมีหลักฐานการอยู่อาศัยของกลุ่มคนยุคแรกมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ดำรงชีพอยู่แบบเร่ร่อนด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์ มีการประดิษฐ์เครื่องมือหินรูปแบบต่างๆขึ้นเพื่อใช้สอย ต่อมาจึงรู้จักตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่บริเวณ ริมน้ำและพัฒนาการดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ เรียนรู้การนำแร่ธาตุโลหะมาประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ และได้พัฒนาขึ้นเมื่อมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกในเวลาต่อมา โดยเฉพาะพ่อค้า นักเดินทางแสวงโชคนักบวชจากอินเดีย ที่เข้ามาพร้อมกับศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรมอันเป็นแบบแผนของตนและได้ถ่ายทอดแก่คนในท้องถิ่น เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับอิทธิพลจากภายนอกเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะที่รู้จักในนามวัฒนธรรมทวารวดี ที่มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่เมืองอู่ทอง ซึ่งพบ หลักฐานโบราณสถาน โบราณวัตถุจำนวนมากทั้งพระพุทธรูป ธรรมจักร และพระพิมพ์ เป็นต้น
ก่อนที่เมืองจะร้างลงอาจเกิดจากการสร้างชุมชนใหม่ตามชายฝั่งทะเล (ในอดีต) ขึ้นมาแทนที่ เช่น ชุมชนโบราณนครชัยศรี ในจังหวัดนครปฐม ชุมชนโบราณทุ่งเศรษฐี ในจังหวัดเพชรบุรี หรืออาจเนื่องมาจากปัญหาภายในของเมือง เช่น การเปลี่ยนเส้นทางเดินของแม่น้ำ หรือโรคระบาดครั้งใหญ่ ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 ก็พบหลักฐานที่แสดงว่ามีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนขนาดใหญ่บริเวณกลางที่ราบลุ่ม ระหว่างแม่น้ำท่าคอยและแม่น้ำสุพรรณบุรี ในเขตอำเภอสามชุกที่เรียกกันว่าโบราณสถานเนินทางพระที่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมจากอาณาขอม
ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในขณะนั้น
สมัยอยุธยาเกิดศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำสุพรรณบุรีซึ่งปรากฏชื่อในจารึกสมัยสุโขทัยว่าสุพรรณภูมิและต่อมาในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาจึงปรากฏนามที่ใช้เรียกว่า สุพรรณบุรี เป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์ สมัยอยุธยา
กล่าวถึงขุนหลวงพะงั่ว ผู้ครองเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาอันถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้ปกครองกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมา
ตั้งแต่ พ.ศ.1913 (ยกเว้น ช่วง พ.ศ.1931 – 1952)
จนถึง พ.ศ. 2112กระทั่งเมืองสุพรรณบุรีได้เสื่อมสลายลงไปพร้อมกับ การเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ.2310 จากนั้นเมื่อเกิดศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นที่กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณบุรีจึงถือเป็นเมืองชั้นนอก และเป็นเขตที่พระราชทานให้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนเชื้อสายเขมร และลาวต่าง ๆ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากหัวเมืองต่าง ๆเมื่อประกอบกันเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยมาแต่เดิมและผู้ที่อพยพเข้ามา ทำกิน ทำให้จังหวัดสุพรรณบุรีในวันนี้เป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งหนึ่งในประเทศไทย
(จำนวนผู้เข้าชม 2042 ครั้ง)