...

นาคทัณฑ์ - คันทวย
นาคทัณฑ์ - คันทวย
ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่่ ๒๔
ไม้แกะสลัก สูง ๑๖๕ ซม. กว้าง ๕๔ ซม.
ย้ายมาจากวัดพระธาตุหริภุญชัยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘
นาคทัณฑ์ เป็นภาษาท้องถิ่นภาคเหนือ ส่วนในภาษาไทยภาคกลาง เรียกว่าคันทวย หมายถึงส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม สำหรับค้ำยันรองรับส่วนของชายคา โครงสร้างเป็นแผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยมมุมฉาก  สลักวและฉลุลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม
นาคทัณฑ์หรือคันทวยนี้ เดิมคงเป็นส่วนประกอบของวิหารใดวิหารหนึ่ง                           
ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย ด้วยเดิมประกอบด้วยวิหารที่สร้างจากไม้มีทั้งวิหารขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ต่อมาเมื่อมีการบูรณะวิหารเหล่านั้น ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมบางประเภท       
  อย่างเช่น นาคทัณฑ์ หรือคันทวย ซึ่งเป็นส่วนรองรับหลังคาที่เสื่อมสภาพช้ากว่าส่วนประกอบอื่นๆ หลงเหลือไว้สำหรับศึกษารูปแบบทางลวดลาย เทคนิคทางเชิงช่างได้
นาคทัณฑ์ทรงสามเหลี่ยมมุมฉาก ส่วนบนเป็นชุดบัวหงาย สลักเป็นรูปตัวลวง เป็นสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายนาค ลำตัวยาว มีหงอน มีเขา ปีก และเท้า จำนวน ๔ เท้า ปลายหางเป็นช่อกระหนก พื้นหลังสลักลายช่อพันธุ์พฤกษา ถัดลงมาเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วออกไก่ กลีบบัวมีขนาดใหญ่ ส่วนล่างสุดสลักเป็นลายก้านขดในกรอบสามเหลี่ยมยาวตลอดปลายนาคทัณฑ์
ในศิลปะล้านนา พบว่ามีการประดับตัวลวงหรือพญาลวง ที่เป็นสัตว์มีรูปร่างยาวคล้ายงูหรือนาค  มีหงอน มีเครา ครีบ และที่สำคัญคือมีปีกและขา 4 ขา คำว่าลวง คงมีที่มาจากคำว่า หลง               ในภาษาจีนที่แปลว่ามังกร ตัวแทนของธาตุไฟ มีอำนาจเหนือธรรมชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ โดยนำมาผสมผสานกับความเชื่อเรื่องนาคที่มีอยู่เดิม นิยมในงานช่างล้านนาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา
อ้างอิง
ปรัชญา เหลืองแดง. “มังกรจีนในงานประดับหลังคาพุทธสถานไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๔.” วิทยนิพน์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๖.
วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์, วิหารล้านนา กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ ๒๕๔๔

(จำนวนผู้เข้าชม 505 ครั้ง)


Messenger