...

ประวัติและบทบาทหน้าที่
        พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน เริ่มจากสิ่งของที่เก็บรวบรวมไว้ในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหารซึ่งมีผู้ศรัทธาได้ถวายแด่พระธาตุที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์ แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนเรื่อยมา
 
  

        เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปของชาวเมืองลำพูนว่า ประมาณ พุทธศักราช 2453 เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนองค์สุดท้ายคือ พลตรีเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ (ปกครองระหว่างพุทธศักราช 2545-2486) และเพื่อนๆ ต้องการที่จะรวบรวมสิ่งของที่น่าสนใจในท้องถิ่นเพื่อนำมาเก็บไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยรวมกับวัตถุอื่นๆ ที่มีอยู่ในวัดตั้งแต่เดิมมา แล้วจัดแสดงให้ผู้คนเข้ามาชมได้ ทางวัดจึงได้จัดสถานที่ให้ โดยวัตถุส่วนใหญ่เก็บไว้ที่ระเบียงวัด อีกส่วนหนึ่งอยู่ในอาคารใกล้กับระเบียงนั้น ส่วนที่เหลือทางวัดให้จัดแสดงกระจายทั่วบริเวณ สรุปได้ว่าวัตถุที่สะสมมาแต่แรกในยุคบุกเบิกมีขึ้นแล้วตั้งแต่ราวปี พุทธศักราช 2453-2462
        ต่อมาพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดี (อวบ เปาโรหิต) สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ได้มีแนวคิดที่จะคุ้มครองรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติในมณฑลพายัพไม่ให้สูญหาย และในนครลำพูนสมัยนั้นเป็นแหล่งที่ค้นพบศิลปะโบราณวัตถุมากกว่าที่อื่นในภาคเหนือ ดังรายละเอียดในใบแจ้งความของมณฑลพายัพ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม พุทธศักราช 2470 ดังนี้
        ด้วยมณฑลพายัพเป็นเมืองที่ตั้งมาแต่โบราณกาลบางสมัยถึงได้ใช้เป็นราชธานีในสยาม… เป็นเมืองที่ประกอบด้วย นักปราชญ์ชั้นเอกเลื่องลือนาม เพราะเหตุนี้ย่อมมีโบราณวัตถุที่ปรากฏและที่ค้นพบใหม่ เนืองๆ อยู่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็ได้รวบรวมไว้บ้างที่มีมากกว่าแห่งอื่นก็คือนครลำพูนข้าพเจ้าเห็นว่าสมควรจะรวบรวมโบราณวัตถุที่พบแล้วหรือที่จะได้พบในภายหน้าจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับมณฑลพายัพขึ้นให้เป็นกิจจะลักษณะเพื่อความมั่นคงที่จะมิให้สิ่งของเหล่านั้นเป็นอันตรายหายสูญ สถานที่ที่จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นั้นเหมาะแก่บริเวณวัดมหาธาตุหริภุญชัยนครลำพูนกับเห็นควรจะจัดตั้งหอสมุดสำหรับมณฑลพายัพขึ้นที่นครเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมบรรดาหนังสือเก่าใหม่เท่าที่สามารถจะหาได้ สำหรับผู้ปรารถนาจะศึกษาหาความรู้ ในทางโบราณคดี และวรรณคดีจะได้มาอ่านตรวจดูได้สะดวกเป็นสาธารณประโยชน์ตลอดกาลนาน ข้าพเจ้าได้หารือต่อกรรมการราชบัณฑิตยสภาฯ ได้อนุมัติแล้ว"
        จากนั้นพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดี ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดตั้งลำพูน พิพิธภัณฑสถานตามคำสั่งศาลารัฐบาลมณฑลพายัพ ที่ 12 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2470 เรื่อง พิพิธภัณฑ์ และหอสมุด ดังนี้
 
1. เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ พร้อมด้วยพระยาราชนกูลวิบูลย์ภักดีเป็นผู้อำนวยการ
2. พระยาวิชิตรักษาเป็นผู้ดำเนินการ
3. นายอำเภอเมืองเป็นผู้ช่วยดำเนินการและเลขานุการ
4. ปลัดอำเภอเมืองผู้ 1 แล้วแต่ผู้ดำเนินการจะเลือกเป็นผู้รักษาพิพิธภัณฑ์
5. จ่าจังหวัดเป็นผู้ช่วยรักษาพิพิธภัณฑ์
6. เสมียนตราจังหวัดเป็นเหรัญญิก
7. อักษรเลขเป็นผู้ช่วยเหรัญญิก
 
        ต่อมา กรมศิลปากรมีโครงการขยายกิจการพิพิธภัณฑ์ หาสถานที่และงบประมาณจะจัดสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ถาวรทันสมัยขึ้นใหม่ พระธรรมโมลี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยขณะนั้น จึงมอบศิลปโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานหลังเดิมจำนวน 2,013 ชิ้นให้กรมศิลปากร เพื่อนำออกมาจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่จะสร้างขึ้นใหม่ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2511 แต่ก็ยังไม่มีสถานที่เหมาะสม
 
 

       จนกระทั่งกรมศิลปากรได้รับมอบกรรมสิทธิ์ในที่ดินราชพัสดุ เดิมเป็นที่ตั้งเรือนจำจังหวัดลำพูน ที่ถนนอินทยงยศ ตรงข้ามวัดพระธาตุหริภุญชัย จำนวน 2 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ในปี พุทธศักราช 2515 จึงได้ทำการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์หลังใหม่ขึ้น แล้วเสร็จในปี พุทธศักราช 2517 จากนั้นได้ขนย้ายโบราณวัตถุจากอาคารหลังเก่าในวัดพระธาตุหริภุญชัยมาจัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุที่รวบรวมเพิ่มเติมจากที่ประชาชนบริจาค และโบราณวัตถุที่ย้ายมาจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
        เมื่อการดำเนินการจัดตั้งและจัดแสดงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย เรียบร้อย กรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2522 เวลา 15.00 น. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เปิดให้ประชาชนเข้าชมนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 

 

ประวัติย่อเมืองลำพูน

        ดินแดนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง แต่เดิมนั้นเรียกว่า "สมันตรประเทศ" และ "พิงครัฐ" มีนครสำคัญอยู่ที่ "หริภุญไชย" (ลำพูน) และ "เขลางค์นคร" (ลำปาง)
หริภุญไชย (ลำพูน) เป็นชื่อแคว้นหรือรัฐที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับละโว้ (ลพบุรี) ในภาคกลางที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13-14 โดยมีพระนางเจ้าจามเทวีเป็นปฐมกษัตรีย์ ต่อมาพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 ก็สลายตัวเพราะถูกพญามังรายซึ่งเป็นใหญ่อยู่ทาง “โยนก” แถบที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงรายมายึดหริภุญไชยได้ แล้วสถาปนาเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่รวบรวมดินแดนทางภาคเหนือตอนบนขึ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำเร็จในช่วงระยะเวลา 100 ปีเศษต่อมาดังที่รู้จักกันในชื่อว่า "ล้านนา"
 

ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูน

        ศิลาจารึกในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จังหวัดลำพูนเริ่มจากการเก็บรวบรวมสิ่งของผู้มีจิตศรัทธา ได้ถวายแด่องค์พระธาตุหริภุญไชย ศิลาจารึกหลักแรกที่ทางวัดได้มาเมื่อประมาณพุทธศักราช 2460 เป็นจารึกภาษามอญโบราณ จากวัดดอนแก้ว (วัดร้าง) ปัจจุบันคือ โรงเรียนบ้านเวียงยอง อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ตรงกันข้ามกับตัวเมืองลำพูน ปีพุทธศักราช 2465 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพและยอร์ชเซเดส์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวฝรั่งเศส พบศิลาจารึกอักษรมอญเพิ่มขึ้นอีกหลักที่ข้างสถูปสี่เหลี่ยมในวัดกู่กุฏิร้าง (วัดจามเทวี) จึงนำมาเก็บไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เช่นกันในเวลานั้นจำนวนวัตถุที่เก็บไว้ที่วัดมีมากขึ้นและมีการจัดแสดงด้วยทำให้ยอร์ชเซเดส์ เรียกว่า พิพิธภัณฑ์เล็กที่ตั้งขึ้นในระเบียงส่วนหนึ่งของวัดพระธาตุ นับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำ "พิพิธภัณฑ์" สำหรับวัตถุที่เก็บไว้ในวัดพระธาตุหริภุญชัยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2460 - 2467 พิพิธภัณฑ์มีศิลาจารึกจำนวน 13 หลักทุกหลักได้มาจากตัวเมืองลำพูนและบริเวณรอบๆ
        จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ร่วมกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้มีการรวบรวมจัดเก็บศิลาจารึกทั่วมณฑลพายัพ มาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย ทำให้พิพิธภัณฑ์ได้รับจารึกราว 20 หลักจากพะเยาและเชียงราย พระองค์ทรงต้องการให้เก็บหลักฐานท้องถิ่นล้านนาไว้ที่ภาคเหนือและเลือกตัวอย่างเพียงไม่กี่ชิ้น สำหรับเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์กรุงเทพฯและด้วยพระวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นนี่เองทำให้มีวัตถุจารึกและวัตถุอื่นๆจากจังหวัดเชียงรายปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระนครและลำพูน
        ด้วยพระราชประสงค์ที่จะย้ายศิลาจารึกจากเชียงรายไปลำพูนนี้ ทำให้พิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุฯ ได้รับการยกฐานะขึ้น เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการเร็วขึ้น โดยทางราชบัณฑิตยสภาได้อนุมัติมหาอำมาตย์โทพระยาราชนกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพประจำเชียงใหม่ตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ พิพิธภัณฑสถานมณฑลพายัพ ขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2470 หัวหน้าคนแรกคือเจ้าจักรคำขจรศักดิ์และสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพโดยมีข้าราชการของ จังหวัดลำพูนเป็นกรรมการ
        ขณะนั้นมีศิลาจารึกจำนวน 37 หลักจารึกบนแผ่นไม้กระดาน 1 แผ่นระหว่างพุทธศักราช 2515 - 2517 พิพิธภัณฑ์ฯได้สร้างอาคารใหม่อยู่ฝั่งตรงข้ามบริเวณที่ตั้งเดิมของเรือนจำประจำจังหวัดลำพูนวัตถุต่างๆส่วนใหญ่รวมทั้งจารึกจึงถูกย้ายไปไว้ที่อาคารหลังใหม่ในปีพุทธศักราช 2521 และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2522
        ในปีพุทธศักราช 2541 ทางพิพิธภัณฑ์ฯได้ส่งคืนศิลาจารึกจำนวน 12 หลักไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสนและเมื่อปีพุทธศักราช 2549 ได้รับมอบศิลาจารึกหินทรายจากอ.ลี้จ.ลำพูนปัจจุบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยมีจารึกทั้งสิ้น 26 จารึกเป็นจารึกหินทราย 25 หลักส่วนอีก 1 หลักเป็นจารึกบนแผ่นไม้กระดานและในจำนวน 25 จารึกนี้มี 17 จารึกเป็นจารึกอักษรไทยล้านนาและ 8 จารึกเป็นอักษรมอญโบราณซึ่งมาจากลำพูนทั้งสิ้น

(จำนวนผู้เข้าชม 467 ครั้ง)


Messenger