...

เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๙
๑๘ มีนาคม วันคล้ายวันถึงแก่พิราลัย
เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ ๙
เจ้าอินทยงยศโชติ
เป็นโอรสของเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์
เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ประสูติแต่เจ้าแม่พิมพา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖
มีนามเดิมว่า เจ้าน้อยหมวก หรือเจ้าน้อยอินทยศ ได้ช่วยราชการในเมืองลำพูนตั้งแต่เมื่อครั้งเจ้าดาราดิเรกรัตน์ไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗  
ต่อเนื่องมาจนถึง
สมัยของเจ้าเหมพินทุไพจิตร เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๘  
ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งเป็นเจ้าอุปราชนครลำพูนเลื่อนเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ที่ “เจ้าอินทยงค์ยศโชติ์ วรโฆษกิตติโสภณ วิมลสัตยสวามิภักดิคุณ หริภุญไชยรัษฎารักษ์ ตทรรคเจดีย์บูชากร ราษฎรธุระธาดา เอกัจจโยนกาธิบดี เจ้านครลำพูน”
หลังจากเจ้าเหมพินทุไพจิตรซึ่งถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙  
เจ้าอินทยงยศโชติ ถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๙ เป็นเวลา ๑๕ ปี เป็นบิดาในเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนงองค์ที่ ๑๐ องค์สุดท้ายของนครลำพูน อันประสูติแต่แม่เจ้ารถแก้ว จากราชสกุลอิศรเสนา
เจ้าอินทยงยศโชติ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเจ้านครลำพูนนั้น ได้สนับสนุนการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเช่นด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านทิศเหนือได้สร้างถนนตั้งแต่ประตูช้างสีถึงแดนเมือง ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างถนนจากเมืองลำพูนไปยังอ.สารภี จ.เชียงใหม่ และทางทิศใต้ได้ตัดถนนจากเมืองลำพูนไปสู่แขวงปากบ่อง( อ.ป่าซางในปัจจุบัน)  ขยายถนนภายในเมืองลำพูนให้มีความกว้างมากขึ้นเพื่อรองรับการสัญจรของประชาชนภายในเมือง
นอกจากนี้ เจ้าอินทยงยศโชติฯ ยังได้ถวายที่ดินและออกทรัพย์ส่วนตัวสำหรับสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ขึ้นในเมืองลำพูน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
เพื่อประโยชน์ในทางราชการอีกด้วย
อ้างอิง
พิเชษฐ์ ตันตินามชัย. เจ้าหลวงลำพูน. เชียงใหม่: วิทอินดีไซน์, ๒๕๕๘.
วรเทวี (ณ ลำพูน) ชลวณิช. เจ้าหลวงลำพูน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๕๓.



(จำนวนผู้เข้าชม 693 ครั้ง)


Messenger