จารึกอักษรฝักขาม
จารึกอักษรฝักขามในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้ทำการปรับปรุงการจัดแสดงห้องศิลาจารึก ที่ได้เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์มาเป็นเวลานาน และมีจำนวนมากที่สุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภาคเหนือ โดยแบ่งเป็นจารึกอักษรมอญโบราณ และอักษรฝักขาม พบบริเวณอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และบริเวณโดยรอบ
อักษรฝักขาม หมายถึง ตัวอักษรที่ใช้บันทึกเรื่องราว ลงบนศิลาจารึกในอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๔ มีลักษณะที่ใกล้เคียงอักษรโบราณในสมัยสุโขทัย ลักษณะตัวอักษรจะโค้งและผอมสูงมากกว่าจึงเรียกว่าตัวอักษรฝักขาม ซึ่งได้แบบอย่างไปจากอักษรสมัยสุโขทัยสมัยพระเจ้าลิไท เมื่อครั้งพระยากือนาโปรดให้พระราชทูตไปอาราธนาพระสุมนเถระขึ้นไปฟื้นฟูพระศาสนาที่เชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ที่ถือว่าเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยเก่าแก่ที่สุดที่พบในล้านนา ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นอักษรฝักขามจนได้รับความนิยมก่อนที่จะมีการนิยมใช้อักษรธรรมล้านนาแทนที่ในสมัยต่อมา
สำหรับโพสต์นี้ ขอนำเสนอจารึกอักษรฝักขามบางส่วน สำหรับจารึกหลักอื่นๆ ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จะได้นำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป
ท่านที่สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ในวันพุธ-อาทิตย์ เวลา ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. โดยให้บริการภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดCOVID-19 อย่างเคร่งครัด
อ้างอิง
คงเดช ประพัฒน์ทองและคณะ. วิเคราะห์จารึกในพิพิธภัณพสถานแห่งชาติ หริภุญไชย. กรุงเทพฯ: รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, มปป.
ศิลปากร,กรม. แบบเรียนหนังสือภาษาโบราณ. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, ๒๕๕๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 5326 ครั้ง)