...

หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านสันติภาพ 2 จังหวัดน่าน
องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง : หลักฐานทางโบราณคดีจากแหล่งโบราณคดีหมู่บ้านสันติภาพ 2 จังหวัดน่าน Archaeological remains from Santipharp 2 Archaeological Site, Nan Province
โดย : นางสาวชญาดา สุวรัชชุพันธุ์
เรียบเรียง : นายจตุรพร  เทียมทินกฤต
-บทนำ-
.     แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านสันติภาพ 2 ตั้งที่ตำบลไชยสถาน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน อยู่ในแอ่งที่ราบระหว่างหุบเขา ที่ปรากฏกระบวนการพัดพา กัดเซาะของแม่น้ำน่านซึ่งพัดพาตะกอนมาสะสมตัวในแอ่งนี้ โดยอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองเก่าน่าน ที่พิกัด UTM WGS 1984 Datum Zone 47 Q 685472.14 m E 2077495.36 m (ใช้เครื่อง GPS Garmin 60 Cs อ้างอิงแผนที่ทางทหาร แผ่นที่ 5146 I L7018 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD) สภาพพื้นที่เป็นเนิน-ที่ดอนในที่ลาดระดับต่ำจากทิศตะวันตก ไปทางตะวันออก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 207 เมตร ในบริเวณนั้นเนินดินหลายเนินบนลานตะพักลำน้ำเลียบไปกับพื้นที่ตามทางเดินสายเก่าของแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของแหล่งโบราณคดี เดิมคงจะเป็นทะเลสาปรูปแอกวัว(Axe Bow Lake) ปัจจุบันได้ตื้นเขิน ถูกใช้ในการเกษตรกรรม และมีลำห้วยเหมืองหลวงไหลผ่านกลางแหล่งโบราณคดี ซึ่งจะไหลไปบรรจบกับห้วยลี่ ก่อนจะถูกชักน้ำไปที่คูเมืองน่านด้านทิศตะวันตก
.     ในปี พ.ศ. 2557 สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน(ในขณะนั้น) ได้รับแจ้งจากนายสันติภาพ อินทรพัฒน์ เจ้าของที่ดินถึงการพบหลักฐานทางโบราณคดีประเภทอิฐและชิ้นส่วนกระเบื้อง เป็นแนวทรงกลมจากการปรับพื้นที่เพื่อทำสนามแบดมินตัน ในหมู่บ้านสันติภาพ 2 ทางกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 น่านจึงทำการสำรวจทางโบราณคดีเมื่อ พบเนินดิน 5 เนินที่มีหลักฐานทางโบราณคดีกระจายทั่วบริเวณ  เนินด้านทิศใต้สุดของแหล่งโบราณคดีปรากฏแนวอิฐก่อเป็นวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร แต่ละเนินพบชิ้นส่วนกระเบื้องดินขอ และชิ้นส่วนภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาเมืองน่าน แหล่งเตาเวียงกาหลง และชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หมิง กระจายทั่วไป จึงจัดทำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อดำเนินงาน และในปีงบประมาณ 2559 ได้รับงบประมาณ การขุดค้นทางโบราณคดีเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2559 โดยการทำผังคลุมทั้งบริเวณของแหล่งโบราณคดีตามแนวแกนทิศเหนือ-ใต้ และแบ่งพื้นที่ออกเป็นช่องๆ ช่องละ 4x4 เมตร โดยทำการขุดค้นทั้งสิ้น 4 พื้นที่ คือ เนินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของแหล่งโบราณคดี 3 พื้นที่ และเนินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 1 พื้นที่  การขุดค้นเริ่มขุดบริเวณที่ปรากฏแนวอิฐ โดยปรากฏแนวอิฐต่อเนื่องลงไป และขยายพื้นที่ไปทางทิศเหนือ ตามร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดี วิธีการขุดค้นใช้การขุดลอกชั้นสมมติทีละ 5-10 เซนติเมตร
-ชั้นทับถมทางโบราณคดี-
.    จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณพบชั้นทับถมทางโบราณคดีในหลุมขุดค้นทั้ง 4 หลุม จากผนังแสดงชั้นดิน 3 ชั้นหลัก ดังนี้
     1. ชั้นผิวดิน หนาประมาณ 0-30 เซนติเมตร เป็นชั้นดินธรรมชาติที่เกิดหลังจากการใช้กิจกรรมในสมัยโบราณ พบหลักฐานที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์สมัยปัจจุบัน
     2. ชั้นทับถมทางวัฒนธรรม
          2.1 ชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นบน อยู่ใต้ชั้นผิวดิน หนาประมาณ 20-60 เซนติเมตร เป็นดินเหนียวผสมทรายแป้ง ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการใช้เตาเผา ซึ่งจำแนกเป็นเตาเผาหมายเลข 1, 2, 3 และ 4
          2.2 ชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นล่าง เป็นดินเหนียวผสมเม็ดหินปูน ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการฝังศพ ซึ่งจำแนกเป็นโครงกระดูกหมายเลข 1 และ 2
-หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในชั้นทับถมทางวัฒนธรรม-
     1. หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นบน เป็นการใช้พื้นที่สมัยที่ 2 โดยพบหลักฐานเกี่ยวกับการทำกิจกรรมการใช้เตาเผา ซึ่งน่าผลผลิตจะเป็นการเผากระเบื้องดินขอ เป็นหลัก โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีหลายประเภท ดังนี้
          1.1 โบราณวัตถุประดิษฐ์ เบื้องต้นแบ่งออกได้ ดังนี้ ชิ้นส่วนกระเบื้องดินขอ, ชิ้นส่วนอิฐ, ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา และตะปูโลหะ
          1.2 ร่องรอยกิจกรรมมนุษย์โบราณ พบเตาเผาระบายความร้อนในแนวดิ่ง 4 เตา ซึ่งมีลักษณะและองค์ประกอบย่อยแตกต่างกันออกไป
               - เตาเผาหมายเลข 1 (S5E6 & S5E7) มีลักษณะเป็นเตาตะกรับ ตัวเตา ø 2 ม. สูง 70 ซม. ช่องใส่เชื้อเพลิงขนาด 50x80 เซนติเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเตา โดยมีความลาดเอียงเล็กน้อยลงไปทางทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากการขุดตรวจภายในเตาพบชิ้นส่วนดินเผาอยู่สูงกว่าพื้นเตาประมาณ 30 ซม. มีลักษณะเป็นดังรังผึ้ง จึงสันนิษฐานว่า คือ ส่วนตะกรับ ใต้ชั้นตะกรับนี้พบว่ามีอิฐวางเรียงกันน่าจะเป็นส่วนฐานเตาเพื่อการรองรับโครงสร้างเตาเผา
               - เตาเผาหมายเลข 2 (S4E7&S3E7&S3E8) เป็นรูปเกือบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 2.05x3.00 ม. สูง 40-50 เซนติเมตร ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นช่องใส่เชื้อเพลิง 2 ช่อง ที่ทำจากดินดิบทำส่วนบนของเตาโค้งรับกัน กว้างช่องละ 60 เซนติเมตร พบชิ้นส่วนระบายความร้อนที่มีร่องรอยการโดนอุณหภูมิสูงภายในช่องใส่เชื้อเพลิงนี้ และบริเวณถัดไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้พบชิ้นส่วนกระเบื้องดินขอ และชิ้นส่วนภาชนะดินเผากระจายตัวอยู่ ซึ่งพบเช่นเดียวกันกับบริเวณหน้าช่องใส่เชื้อเพลิงของเตาหมายเลข 1
               - เตาเผาหมายเลข 3  (S3E10&S3E11&S2E10&S2E11) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 4.3x3.0 เมตร มีช่องใส่เชื้อเพลิงวางตัวตามด้านกว้างของเตาทั้งหมด 6 ช่อง แต่ละช่องกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร อิฐของเตานี้มีขนาดและเนื้อดินต่างไปจากทุกเตา คือ มีขนาด 15x7x4 เซนติเมตร
               - เตาเผาหมายเลข 4 พบในเนินดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งโบราณคดีใกล้กับลำห้วยมุ่น มีลักษณะคล้ายเตาเผาหมายเลข 2 แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก
      2. หลักฐานทางโบราณคดีพบในชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นล่าง เป็นการใช้พื้นที่สมัยแรก หลักฐานทางโบราณคดีที่พบเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการฝังศพ มีรายละเอียด ดังนี้
            2.1 โบราณวัตถุประดิษฐ์ ได้แก่ ภาชนะดินเผา, เครื่องมือหินขัด, ขวานสำริด และลูกปัดเปลือกหอย?
            2.2 โบราณนิเวศวัตถุ ได้แก่  หอยเบี้ย
            2.3 ร่องรอยกิจกรรมมนุษย์โบราณ
                - โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 1 พบที่ระดับความลึกผิวดินประมาณ 10 เซนติเมตร ผลจากการวิเคราะห์โดยคุณประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญทางด้านมานุษยวิทยากายภาพ ระบุว่า โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ แตกหัก แต่ยังคงวางอยู่ในสภาพเดิมของร่างกาย เป็นเพศชายพิจารณาจาก Greater Sciatic notch ที่มีลักษณะเป็นรูปตัว V เป็นมุมแหลม เล็กแคบ อายุเมื่อตาย มากกว่า 35 ปี มีพิธีกรรมการปลงศพ โดยโครงกระดูกหันศีรษะไปทางทิศเหนือ นอนหงาย แขนขวาวางอยู่บนหน้าท้อง แขนซ้ายวางเฉียงอยู่บนหน้าท้อง มือวางเกยอยู่บนมือขวา ขาเหยียดยาว บริเวณข้อเท้าคล้ายถูกมัด ลักษณะทั่วไปของโครงกระดูกสันนิษฐานว่า น่าจะมีการห่อและมัดศพก่อนนำมาฝัง โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่กลุ่มภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ วางอยู่ด้านล่างไหล่ด้านซ้าย และสะโพกด้านซ้าย, ลูกปัดเปลือกหอยทรงกระบอก ø 3-4 มิลลิเมตร หนา 1-3 มิลลิเมตร พบบริเวณข้อมือทั้งสองข้างและกระดูกสะโพก, ขวานสำริดมีบ้องสภาพชำรุด วางอยู่บริเวณระหว่างกลางของกระดูกหน้าแข้ง และชิ้นส่วนเปลือกหอยทะเล? วางอยู่บริเวณปลายเท้า
                - โครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 2 พบใต้โครงกระดูกหมายเลข 1 โดยอยู่ลึกจากโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 1 ตั้งแต่ประมาณ 2 – 20  เซนติเมตร  สภาพทั่วไปของกระดูก โครงกระดูกไม่สมบูรณ์ แต่ยังคงวางอยู่ในสภาพเดิมของร่างกาย ไม่สามารถระบุเพศได้ เป็นผู้ใหญ่ มีพิธีกรรมการปลงศพ โครงกระดูกหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก นอนหงาย แขนขวาเหยียดยาว ไม่มีร่องรอยของการมัดหรือห่อศพ พบโบราณวัตถุที่อุทิศให้แก่ผู้ตาย ประกอบด้วย เครื่องมือหินขัด 2 ชิ้น ลักษณะคล้ายสิ่ววางอยู่ข้างศีรษะทางด้านซ้าย, ลูกปัดเปลือกหอยทะเลลักษณะเป็นแว่น พบบริเวณลำตัวช่วงบนตั้งแต่คอถึงหน้าท้อง, เครื่องมือหินขัดมีบ่า วางอยู่ระหว่างกระดูกหน้าแข้ง, กลุ่มภาชนะดินเผา ถูกทุบและวางไว้บริเวณใกล้กับมือข้างซ้าย และกลุ่มภาชนะดินเผาอย่างน้อย 5  ใบ พบว่ามีการทุบภาชนะดินเผาให้แตกปูรองพื้นและคลุมทับส่วนล่างของโครงกระดูกตั้งแต่ต้นขาลงไป
          2.4 ชิ้นส่วนจากร่างกายมนุษย์สมัยโบราณ ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกต้นขา, ชิ้นส่วนของกระดูกขากรรไกรล่าง และชิ้นส่วนฟันมนุษย์
-การลำดับอายุชั้นวัฒนธรรม-
.     สำนักศิลปากรที่ 7 น่าน(เดิม) ได้ดำเนินการส่งตัวอย่างหลักฐานทางโบราณคดีทั้งสองชั้นทับถมทางวัฒนธรรม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
      1. ชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นบน มีอายุประมาณ 1,023-606 ปีมาแล้ว โดยค่าอายุได้จากการหาค่าอายุด้วยวิธีการเรืองแสงความร้อน (Thermoluminescence, TL) โดยภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) จำนวน 6 ตัวอย่าง รายละเอียด ดังนี้
           - เตาเผาหมายเลข 1: Kiln1 (131 cm.dt.) Brick 896+/-40 และ Kiln1 (143-174 cm.dt.) Soil 916+/-46
           - เตาเผาหมายเลข 2: Kiln2 (103 cm.dt.) Brick 669+/-30 และ Kiln2 (92 cm.dt) Brick 641+/-35
           - เตาเผาหมายเลข 4: Kiln4 (Soil) 648+/-36 และ Kiln4 (155 cm.dt.) Brick 984 +/-39
        2. ชั้นทับถมทางวัฒนธรรมชั้นล่าง เบื้องต้นกำหนดอายุโดยการศึกษาเปรียบเทียบโดยพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่างๆ ดังนี้
            - เครื่องมือหินขัด สันนิษฐานว่าผลิตจากหินโคลนกึ่งแปร (Metamorphosed Mudstone)งน่าจะมีแหล่งวัตถุดิบจากดอยหินแก้ว ที่อยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 3 กม. ซึ่งกำหนดอายุราว 700-4,000 ปีมาแล้ว  ร่วมสมัยกับแหล่งโบราณคดีภูซาง
            - ขวานสำริดมีบ้อง รูปแบบมีความคล้ายคลึงกับขออุทิศที่พบในหลุมฝังศพหมายเลข 3 และ 4 จากหลุมขุดค้นหมายเลข 4 แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีการกำหนดอายุด้วยวิธี AMS (Accelerator Mass Spectrometry) ไว้ราว 3,100 ปีมาแล้ว
     อย่าไรก็ตาม ได้ส่งตัวอย่างเพื่อตรวจหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี AMS (Accelerator Mass Spectrometry) จำนวน 4 ตัวอย่าง เพื่อวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ Beta Analytic 4985 S.W. 74th Court Miami FL 12429 สหรัฐอเมริกา ผลที่ได้ดังนี้
        1. ชิ้นส่วนเครื่องประดับทำจากเปลือกหอย จากโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 2 ค่าอายุ 3,820-3,435 ปีมาแล้ว
        2. ชิ้นส่วนเปลือกหอย จากโครงกระดูกมนุษย์หมายเลข 1 ค่าอายุ 4,890-4,520 ปีมาแล้ว
        3. ชิ้นส่วนฟัน จากระดับชั้นดินสมมติ 130-140 cm.dt. (เป็นชั้นดินที่มีร่องรอยการรบกวน) ค่าอายุ 480-300 ปีมาแล้ว
        4. ตัวอย่างถ่าน จากเตาเผาหมายเลข 2 1,695-1,655 ปีมาแล้ว และ 1,630-1,535 ปีมาแล้ว
     จากการขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณหมู่บ้านสันติภาพ 2 มีการเข้าใช้พื้นที่ 2 ช่วงก่อนถึงสมัยปัจจุบัน สมัยแรกสุดที่พบร่องรอยกิจกรรมมนุษย์ ในช่วงเวลาประมาณ 3,800-3,000 ปีมาแล้ว ถูกใช้ในหน้าที่เป็นแหล่งฝังศพ (Burial Site)  ในช่วงสมัยต่อมา ประมาณ 600-900 ปีมาแล้ว ซึ่งร่วมสมัยที่ตั้งเมืองน่านใน ปี พ.ศ. 1911 ตามพงศาวดารเมืองน่าน พื้นที่ถูกใช้ในหน้าที่ผลิตกระเบื้องดินขอ อิฐเป็นต้น(Industrial Site) อาจด้วยจากบริเวณนั้นเป็นแม่น้ำเก่ามีดินเนื้อละเอียดที่เหมาะสมในการใช้งาน
     *มีบางท่านเสนอว่า เตาที่พบจากลักษณะน่าเป็นเตาเผาปูน แต่ในการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี ไม่พบเศษปูนเลย ข้อสันนิษฐานนี้จึงละไว้
-------------------------------
-อ้างอิง-
จตุรพร เทียมทินกฤต. “การศึกษากระบวนการผลิตเครื่องมือหิน กรณีศึกษาหลุมขุดค้น N – Hill ปี พ.ศ.2548 แหล่งโบราณคดีภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน.” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.
ชวนันท์ จันทร์ประเสริฐ. “การศึกษาแหล่งหินและชนิดหินของแหล่งผลิตเครื่องมือหินดอยภูซาง ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน.” เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2550.
ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์. “ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้เพิ่มใหม่จากจากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งตะขบ ตำบลวังม่วง อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี พ.ศ.2557.” ใน ข้อมูล สารสนเทศ และความรู้เพิ่มใหม่จากงานวิจัยโบราณคดีลุ่มแม่น้ำป่าสัก, สุรพล นาถะพินธุ, บรรณาธิการ, กรุงเทพมหานคร: บริษัท จรัญสนิทวงศ์การพิมพ์ จำกัด, 2558.





































(จำนวนผู้เข้าชม 2942 ครั้ง)