...

อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือหินในพื้นที่ อำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
องค์ความรู้จากสำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
เรื่อง : อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือหินในพื้นที่ อำเภอเมือง และอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน
เรียบเรียงโดย : นายจตุรพร  เทียมทินกฤต นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี
.     เครื่องมือหินเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวเรื่องราวในอดีตชนิดหนึ่งเนื่องด้วยเป็นวัสดุคงทนที่หลงเหลือมาจนถึงปัจจุบันมากที่สุด การที่เราสามารถศึกษาได้ถึงรูปแบบและเทคนิคของการผลิตเครื่องมือหิน จากร่องรอยที่ปรากฏอยู่บนเครื่องมือ นำไปเปรียบเทียบกับข้อมูลทางชาติพันธ์วิทยาที่ยังใช้รูปแบบหรือวัสดุใกล้เคียงกัน และการทดลองผลิตเครื่องมือเลียนแบบโบราณวัตถุ ซึ่งนอกจากเทคนิคการผลิตแล้วยังใช้สันนิษฐานถึงลักษณะที่ถูกนำไปใช้งาน ว่าสามารถใช้งานได้จริงตามที่สันนิษฐานหรือไม่
.     ในการผลิตเครื่องมือหินนั้นมีความผิดพลาดในการผลิตค่อนข้างสูงมากจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตเนื่องจากไม่สามารถปรับแต่งคุณสมบัติของวัตถุดิบได้มากนัก ไม่เหมือนเช่นในกรณีของ ดินที่นำใช้ในการผลิตภาชนะดินเผาหรือ แร่ที่มาใช้การผลิตโลหะ แหล่งผลิตที่พบในพื้นที่จังหวัดน่านนี้มีการใช้ผลิตเพียงแค่ในขั้นตอนขึ้นรูปเครื่องมือเท่านั้น เนื่องจากบนภูเขาในพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบ ตามลักษณะทางธรณีสัณฐานไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีปริมาณน้ำตลอดทั้งปี  น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขัดผิวเครื่องมือ และจากการสำรวจเท่าที่ปรากฏไม่พบหลักฐานเกี่ยวกับหินลับหรือทั่งหินที่ใช้ในการขัด ซึ่งน่าจะมีการนำมาทำการขัดขึ้นรูปหรือตกแต่งขั้นสุดท้ายในบริเวณอื่น เช่น บริเวณริมน้ำซาว ที่อยู่ห่างจากภูซางประมาณ ๑ กม.เศษ
.     พื้นที่แหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลดู่ใต้และตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน พื้นที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองน่านปัจจุบัน  ประกอบไปด้วย เขาหินแก้ว เขาชมพู   ดอยปู่แก้ว เป็นเขาที่อยู่ในเทือกเดียวกันวางตัวเป็นแนวยาววางตัวตามทิศเหนือ-ใต้ ยาวประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร แหล่งโบราณคดีภูซาง  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยปู่แก้ว  ได้มีการสำรวจพบร่องรอยหลักฐานเกี่ยวกับการผลิตเครื่องมือหินกระจายตัวเป็นอาณาบริเวณที่กว้างมากประมาณ  ๑๐-๑๒ ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ซึ่งใช้ในประกอบกิจกรรมในการขึ้นรูปเครื่องมือหินเป็นจุดๆ ทั่วไปตามแนวเขา โดยในพื้นที่ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่ผลิตเครื่องมือหินจะพบสะเก็ดหิน ที่เกิดจากการกะเทาะตกแต่งแล้วไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จึงถูกทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก ค้อนหินจะเป็นก้อนหินทรงกลมที่มีขนาดเหมาะซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหินกรวดแม่น้ำซึ่งไม่พบในสภาพพื้นที่ตามธรรมชาติ  เครื่องมือหินที่ยังขึ้นรูปไม่เรียบร้อยและที่เสียหายในระหว่างขั้นตอนการขึ้นรูป และจากพื้นที่บริเวณร่องน้ำไหลพบว่าชั้นหินที่ทับถมจากการผลิตเครื่องมือมีความหนาเป็นชั้นๆตั้งแต่ ๖๐-๘๐ ซม.ในบริเวณ ถนนบ้านสะไมย์มีชั้นทับถมของเศษหินที่ถูกทิ้งการผลิตหนาถึงกว่า ๒ เมตร ซึ่งจากขนาดของพื้นที่ที่พบหลักฐานกระจายตัวและปริมาณที่สูงมากทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งที่ใช้ในการผลิตเครื่องมือหินโดยเฉพาะ (Industrial Site)ในการศึกษาเกี่ยวกับพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิต เพื่อที่จะใช้ข้อมูลจากการศึกษามาใช้ในการสร้างภาพเกี่ยวกับ ลำดับขั้นตอนการผลิต และเทคนิควิธีการผลิตเครื่องมือ โดยใช้เศษวัสดุที่หลงเหลือและเครื่องมือที่เสียหายจากการผลิตหรือผลิตไม่ได้ตามที่ต้องการ รูปแบบของเครื่องมือหินที่พบในบริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือในรูปแบบขวาน  เครื่องขูด แต่ยังมีการพบหินงบน้ำอ้อย ซึ่งเป็นการเจาะหินเพื่อนำมาใช้ทำกำไล หรือแกนหินที่มีข้อสันนิษฐานใช้ถ่วงน้ำหนักเครื่องมือขุดหลุมเพื่อเพาะปลูก อีกด้วย  นอกจากนี้จากการสำรวจของ สายันต์  ไพชาญจิตร ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้พบ กลุ่มหินที่วางล้อมรอบเนินดินขนาดเล็กซึ่งลักษณะดังกล่าวมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปรากฏอยู่หลายแห่งในบริเวณเขาชมพูและดอยปู่แก้ว ในการทำงานทางโบราณคดีในพื้นที่แหล่งโบราณคดีภูซางได้มีการส่งตัวอย่างไปหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ ทั้งวิธี RadioCarbon dating และ Thermoluminescence ได้ค่าอายุ ๔,๐๐๐-๖๕๐ ปีมาแล้ว อาจแสดงให้เห็นความต่อเนื่องของกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่
.     วัตถุดิบที่ถูกนำมาใช้ผลิตเครื่องมือหินซึ่งพบในการสำรวจในพื้นที่คือ  กลุ่มหินภูเขาไฟ ได้แก่หินชนิด Andesite,  Ash,   Diabase , Tuff,Rhyolite,  Quartzite และ หินกึ่งหินแปร ชนิด Metamorphose   mudstone  และ sandstone (หรือ Argillite) จากงานที่ศึกษาเกี่ยวการผลิตเครื่องมือหินใน พื้นที่ มีหินสองชนิดที่พบว่ามีความนิยมในการผลิต คือ หินแอนดิไซด์ (Andisite) กับ หินกึ่งหินแปร(Metamorphose   mudstone)
.     แหล่งโบราณคดีภูทอก บ้านทุ่งผง  อำเภอเวียงสา  จังหวัดน่าน เป็นเนินเขา บนยอดเนินเป็นพื้นราบกว้าง อยู่ทางทิศใต้ของดอยภูซางประมาณ ๒ กิโลเมตร  หินที่พบเป็นหินภูเขาไฟกลุ่มหิน Tuff  พบหลักฐานประเภท สะเก็ดหิน เครื่องมือหินที่ยังขึ้นรูปไม่เรียบร้อย แกนหิน ค้อนหินกระจัดกระจายตัวอยู่ทั่วไป แท่นหิน  จากเอกสารการสำรวจในระยะแรกพบว่าพื้นที่บริเวณดอยภูทอกยังไม่มีการรบกวนมากเท่าใดนัก มีสภาพเหมือนกับการผลิตเครื่องมือหินพึ่งแล้วเสร็จ แต่ในปัจจุบันถูกรบกวนจากการเข้าไปใช้พื้นที่ทำการเกษตร รูปแบบเครื่องมือที่พบส่วนใหญ่เป็น แบบขวาน (Adze Type) ซึ่งมีทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่า  มีเครื่องขูด ลักษณะกลมแบน (Disc/round scrapper)  แหล่งโบราณคดีภูทอกนี้หากพิจารณาจากที่ตั้งและรูปแบบของเครื่องมือที่พบ คงจะมีความสัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลดู่ใต้และตำบลนาซาวได้ ซึ่งถ้าหากรวมอาณาบริเวณทั้งหมดแล้วน่าจะมากกว่า ๑๗-๑๘ ตารางกิโลเมตร ซึ่งยังมีพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่จะพบหลักฐานในลักษณะเดียวกัน/แตกต่างกันในบริเวณที่ยังไม่มีการสำรวจอย่างละเอียด
.     การสำรวจพบความหลากหลายของชนิดวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตเป็นเครื่องมือหิน อาจเนื่องมาจากการเลือกโดย ปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
          ๑.หน้าที่ใช้งาน เครื่องมือเครื่องใช้อย่างหนึ่งใช้หินชนิดหนึ่งเป็นการ
              เฉพาะ
          ๒. เทคนิคในการผลิตของช่างแต่ละคนหรือแต่ละชุมชน
          ๓.ความยากง่ายในการแสวงหาวัตถุดิบ ความใกล้ไกลของชุมชนกับ
              แหล่งวัตถุดิบ
.     การผลิตเครื่องมือหินเริ่มจากการแยกเอาเปลือกหินหรือที่เรียกกันว่า สะเก็ดหิน ออกจากแกนหิน เพื่อนำเอาส่วนสะเก็ดหรือแกนหิน ไปใช้ทำเป็นเครื่องมือ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ผลิตหรือรูปแบบเทคโนโลยีที่เลือกใช้ในแต่ละวัฒนธรรมซึ่งมีความแตกต่างไปตามสภาพทางนิเวศวิทยา
.     รูปแบบและเทคนิคการผลิตเครื่องมือหินที่มีการนำมาใช้ผลิตเครื่องมือหินแบ่งได้เป็นรูปแบบใหญ่ๆ คือ
          ๑.การกะเทาะโดยตรงโดยใช้มือข้างหนึ่ง ถือวัตถุดิบไว้และใช้ค้อนหินต่อยลงไปให้กะเทาะเปลือกหินออกเป็นสะเก็ดเพื่อขึ้นรูปตามที่ต้องการและกะเทาะตกแต่งให้เกิดคมให้เป็นแนวเดียวและกะเทาะให้ผิวหน้าแต่ละด้านให้มีระดับใกล้เคียงกัน วิธีนี้จะใช้กับเครื่องมือขนาดเล็ก
          ๒. ใช้หินที่เป็นวัตถุดิบมากระแทกเข้ากับก้อนหินขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  ซึ่งถูกใช้เป็นค้อน  ซึ่งมักจะเป็นเครื่องมือขนาดใหญ่หรือเพื่อกะเทาะสะเก็ดหินออกมาใช้ค้อนหินขนาดเล็กตกแต่งเป็นเครื่องมือต่อไป
          ๓. ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่เป็นทั่งในการวางก้อนหินวัตถุดิบและใช้ค้อนหินหรือสกัดที่ทำจากเขาสัตว์หรือกระดูกสัตว์  กะเทาะตกแต่งให้เป็นรูปแบบตามที่ต้องการ
.     จากการทำงานด้านโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดน่านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการพบร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการใช้โลหะมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้น้อยมาก รวมทั้งยังไม่ปรากฏแหล่งโบราณคดีที่มีการผลิตโลหะในปริมาณที่มากพอใช้ในชุมชนในพื้นที่  แม้แต่ในยุคสมัยที่เราถือกันว่ามีการพัฒนาสังคมสู่ระดับสังคมเมืองและระดับแว่นแคว้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องมือที่ใช้จะเปลี่ยนแปลงมาใช้โลหะทั้งหมด  เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผลิตจากโลหะน่าจะมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากภายนอกเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งถือได้ว่าเครื่องมือที่ทำจากโลหะนั้นมีมูลค่าสูงและเป็นความสิ้นเปลืองจากความยากลำบากในการขนส่งที่ต้องส่งผ่านกันมาหลายทอด ดังนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไปจึงน่าจะมีการใช้ไม้และหินเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งในส่วนของเครื่องมือหินนั้นน่าจะเป็นเครื่องมือปฐมภูมิ ซึ่งถูกนำมาผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ไม้นั้นซึ่งวัสดุไม้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้กันทั่วไปจนกระทั่งไม่กี่สิบปีมานี้ในพื้นที่จังหวัดน่าน เครื่องใช้ในการดำรงชีวิตของคนทั่วไปยังมีการผลิตขึ้นมาจากไม้เป็นหลักแม้ว่าเครื่องมือปฐมภูมิจะเปลี่ยนเป็นโลหะแล้วก็ตาม อาจจะมาจากเครื่องมือไม้สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานและสร้างผลผลิตเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงแก่ความต้องการของชุมชน ภายใต้ระบบนิเวศวิทยาที่มีสภาพแวดล้อมที่สามารถสนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าเครื่องมือโลหะที่เกินต่อความจำเป็นในการใช้งาน
---------------------------------
-อ้างอิง-
     คณะกรรมการประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดน่าน. พิมพ์ครั้งที่ ๑  กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,๒๕๔๔.
     จตุรพร  เทียมทินกฤต. การศึกษากระบวนการผลิตเครื่องมือหิน กรณีศึกษาหลุมขุดค้น N - Hill ปีพ.ศ. 2548แหล่งโบราณคดีภูชาง  ตำบลนาซาว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยศิลปากร , 2552.
     ชวนันท์  จันทร์ประเสริฐ. การศึกษาแหล่งหินและชนิดหินชองแหล่งผลิตเครื่องมือหินดอยภูซาง ต.นาซสว อ.เมือง จ.น่าน. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐.
     ศิลปากร,กรม. เมืองน่าน โบราณคดี ประวัติศาสตร์และศิลปะ.  พิมพ์ครั้งที่ ๒  กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้ง,๒๕๓๙.
     สายันต์  ไพรชาญจิตร .โบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน : ข้อมูลเก่าและข้อมูลใหม่. เอกสารประกอบการสัมมนา เรื่อง สืบสานอดีตอันเรืองรอง ของเมืองน่านข้อมูลใหม่ทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์และชาติพันธ์ ม.ป.ท. ๒๕๔๐.
     “__________”. โบราณคดีชุมชน:การจัดการอดีตของชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชน. กรุงเทพฯ:โครงการโบราณคดีชุมชน,๒๕๔๖.
     องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน. รายงานการขุดค้นแหล่งเตาดงปู่ฮ่อ บ้านบ่อสวก ต.สวก อ.เมือง จ.น่าน. ม.ป.ท.. ๒๕๔๖
























(จำนวนผู้เข้าชม 3766 ครั้ง)