...

เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี ตอนที่ 1 : การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่ม - สมัยล้านนา
องค์ความรู้สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
เรื่อง "เมืองเชียงรายจากหลักฐานทางโบราณคดี ตอนที่ 1 : การตั้งถิ่นฐานแรกเริ่ม - สมัยล้านนา"
เรียบเรียงโดย : นางสาวนงไฉน ทะรักษา นักโบราณคดีชำนาญการ
.     ในพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาเนิ่นนาน โดยในปี พ.ศ. 2474 ศาสตราจารย์ฟริทซ์ สารสิน (Fritz Sarasin) ได้ขุดค้นพบเครื่องมือหินที่ถ้ำพระ เป็นเครื่องมือแบบไซแอเมียน (Siamian) ในยุคหินเก่า แบบเดียวกับที่พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีที่บ้านผาหมู อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ และแหล่งโบราณคดีในอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พบเศษภาชนะดินเผา และเครื่องมือที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ สรุปว่าคนที่อาศัยอยู่นี้เป็นกลุ่มชนล่าสัตว์ ยังไม่รู้จักการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์
.     ส่วนในเอกสารประวัติศาสตร์ พบการกล่าวถึงเมืองเชียงรายในพื้นเมืองเชียงแสน ฉบับรวบรวมและปริวรรตโดย ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ตั้งแต่สมัยตำนานจนถึงสมัยล้านนาและสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
     - ลวจังกราช (พ.ศ.1182-1304) ได้โปรดฯ ให้สร้างเมืองแห่งหนึ่งขึ้นในบริเวณที่พบช้างป่าใหญ่ แล้วเรียกชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “เวียงเชียงรอย” ซึ่งภายหลังคำว่าเชียงรอยได้แผลงไปเป็น “เชียงราย”
     - ตำนานยังเล่าอีกว่า พ.ศ.1438  พญาเรือนแก้วผู้ครองเมืองไชยนารายณ์ทรงสร้างพระธาตุขึ้น บนยอดดอยจอมทองริมฝั่งแม่น้ำกกในเขตตัวเมืองเชียงราย
     - ใน พ.ศ.1587 ท้าวกีฅำลาน เจ้าเมืองแคว้นกาวได้ยกทัพมารบกับลาวจังกวาเรือนฅำแก้วที่กลางทุ่งเชียงราย ลาวจังกวาเรือนฅำแก้วพ่ายแพ้ ชาวเชียงรายเสียแม่ทัพ เมืองแตก ทิ้งเมืองไป ทำให้เมืองเชียงรายกลายเป็นเมืองร้างไป
     - จนกระทั่งพญามังราย เสด็จประพาสป่าพร้อมกับบริวาร พบเมืองเชียงรายร้าง ทางใต้ของเวียงเงินยาง มีความพึงพอใจ จึงได้สร้างเมืองขึ้นมาใหม่ และประทับอยู่เมืองเชียงรายนี้ ไม่ได้กลับไปยังเมืองเงินยางอีก โอรสของพระองค์คือ พญาไชยสงครามก็ประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายนี้จนสิ้นพระชนม์ หลังจากนั้นบทบาทของเมืองเชียงรายก็ลดน้อยลง กษัตริย์โปรดฯ ให้ขุนนางปกครองเมืองแห่งนี้แทน
     - แต่ยังคงปรากฏเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเชียงรายด้านพุทธศาสนาในสมัยล้านนาอยู่ ดังเช่นชินกาลมาลีปกรณ์กล่าวถึงคณะสงฆ์นิกายป่าแดงได้เดินทางไปอุปสมบทกุลบุตรในเมืองเชียงแสนแล้ว ก็ได้เดินทางไปทำการอุปสมบทกุลบุตรที่เมืองเชียงราย เมื่อปี พ.ศ.1977
     - ในรัชสมัยพญาสามฝั่งแกน เกิดฟ้าผ่าองค์เจดีย์วัดป่าเยี้ยะ ได้พบพระแก้วมรกตในองค์เจดีย์นั้น วัดป่าเยี้ยะจึงถูกเรียกว่าว่าวัดพระแก้วตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
     - จารึกดอยถ้ำพระเป็นหลักฐานแสดงถึงประเพณีการนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ยังถ้ำพระ ในปี พ.ศ.2027 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประเพณีนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น ถ้ำพระจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มาตั้งแต่สมัยล้านนา
     - ขอบเขตของเมืองเชียงรายนั้น ดร. ฮันส์ เพนธ์ สันนิษฐานไว้ว่าเมื่อแรกสถาปนาในสมัยราชวงศ์มังราย มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีกำแพงเมืองเก่าเป็นอิฐเพียงบริเวณตีนดอยจอมทองเท่านั้น นอกนั้นเป็นกำแพงดินและอาศัยแม่น้ำกกเป็นคูเมือง
.     โบราณสถานในเมืองเชียงรายที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น ทั้งดอยถ้ำพระ พระธาตุดอยทอง วัดพระแก้ว และกำแพงเมือง-คูเมืองเชียงราย มีการใช้งานตลอดระยะเวลาตั้งแต่สมัยล้านนาจนถึงปัจจุบัน จึงถูกดัดแปลงปรับเปลี่ยนตลอดมา จนไม่ทราบลักษณะดั้งเดิมเมื่อสมัยแรกสร้างแล้ว โบราณสถานเกือบทั้งหมดที่ค้นพบยังไม่เคยได้รับการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี จนกระทั่งปี พ.ศ.2560 สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ มีโอกาสได้ดำเนินการทางโบราณคดีในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 37 ค่ายเม็งรายมหาราช ทำให้ได้ข้อมูลทางโบราณคดีที่สำคัญของเมืองเชียงรายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป
-------------------------------
-เอกสารอ้างอิง-
กองโบราณคดี. โบราณคดีเชียงราย. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533.
บวรเวท  รุ่งรุจีและคณะ, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ). ม.ป.ท., 2529.
สรัสวดี อ๋องสกุล. พื้นเมืองเชียงแสน. กรุงเทพมหานคร : อัมรินทร์พริ้งติงลิชชิ่ง, 2546.
สุภาพร นาคบัลลังก์ บรรณาธิการ. จากยุคน้ำแข็งไพลสโตซีนสู่สมัยล้านนา. เชียงใหม่ : โครงการจัดตั้งศูนย์โบราณคดีภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2550.
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่. นามานุกรมแหล่งมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ล้านนาตะวันตก. เชียงใหม่ : เชียงใหม่สแกนเนอร์, 2560.
อภิชิต ศิริชัย. รู้เรื่องเมืองเชียงราย. เชียงราย : สำนักพิมพ์ล้อล้านนา, 2559.
ฮันส์เพนธ์ และคณะ. ประชุมจารึกล้านนา. เชียงใหม่ : คลังข้อมูลจารึกล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2546.










(จำนวนผู้เข้าชม 2935 ครั้ง)