...

การค้าส่งออกของล้านนา
องค์ความรู้เรื่อง : การค้าส่งออกของล้านนา
โดย : นายสายกลาง  จินดาสุ  นักโบราณคดีชำนาญการ
         กลุ่มโบราณคดี  สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
.          ล้านนา คือ อาณาจักรของกลุ่มชาติพันธ์ไท ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ด้านเหนือสุดถึงมณฑลยูนนาน บริเวณสิบสองปันนา (จิ่งหง) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ตะวันตกถึงแม่น้ำสาละวิน ตะวันออกถึงแม่น้ำโขง และทิศใต้ชนกับพื้นที่ของเมืองศรีสัชนาลัยในอาณาจักรสุโขทัย  กายภาพพื้นที่ของอาณาจักรล้านนา เป็นเทือกเขาสูงวางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ ทำให้พื้นที่โดยรวมมีลักษณะเป็นที่ราบระหว่างหุบเขา แอ่งที่ราบและภูเขาที่โอบโดยรอบเหล่านี้ คือ ปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของอาณาจักรล้านนา   นามอาณาจักร “ล้านนา” บ่งบอกตัวตนและอัตลักษณ์อาณาจักรอย่างเด่นชัดว่า คือ “อาณาจักรแห่งนาเป็นล้าน” ระบบเศรษฐกิจและสังคมพื้นฐานของล้านนามี “ข้าว” เป็นสิ่งขับเคลื่อน  ทั้งใช้บริโภคและส่งส่วยหรือภาษีให้ชนชั้นปกครอง  เมื่อพิจารณาระบบเศรษฐกิจวัฒนธรรมแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูน แบ่งตามลักษณะการผลิต กิจกรรมการผลิตและลักษณะทางนิเวศ พบว่าล้านนามีระบบเศรษฐกิจ ๓ ส่วน คือ ๑. ระบบเศรษฐกิจบ้าน ซึ่งหมายถึงชุมชนหมู่บ้าน ๒. ระบบเศรษฐกิจเมือง ๓. ระบบเศรษฐกิจป่า ในทางภูมิศาสตร์สองระบบแรกเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขยายในแนวราบบนพื้นที่ของหมู่บ้านและเมืองที่ส่วนใหญ่อยู่บนที่ราบ  ซึ่งระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมี ข้าว เป็นพื้นฐานหลักของระบบที่ผลิตเพื่อใช้ในอาณาจักรเป็นสำคัญ  และระบบเศรษฐกิจป่า ซึ่งเป็นระบบบนพื้นที่สูง โดยระบบอย่างหลังนี้เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายระหว่างรัฐ ในฐานะต้นทางการค้าที่เป็นผู้หาทรัพยากรจากพื้นที่สูงส่งไปยังอาณาจักรเพื่อทำการค้ากับต่างอาณาจักร ที่สามารถกระจายสินค้าออกไปยังภูมิภาคอื่นๆของโลก
 ของป่าเป็นสินค้าที่พ่อค้าชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการมากที่สุด เชียงใหม่ทำหน้าที่เป็นเมืองศูนย์กลางที่รับซื้อขายสินค้าของป่าจากเมืองตอนบนส่งให้อยุธยาและเมืองท่าทางตอนใต้ของพม่า เอกสารตะวันตกกล่าวถึง ชะมดเช็ด ว่าเป็นสินค้าสำคัญจากเชียงใหม่ และสินค้าที่พ่อค้าตะวันตกนิยมเพราะได้กำไรมาก คือ ครั่ง หนังกวาง และกำยาน ช่วงปลายอาณาจักรอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีหลักฐานว่าพระคลังหลวงทำการค้าขายกับเมืองต่างๆรวมทั้งเชียงใหม่ โดยอยุธยานำสินค้าเข้ามาแลกเปลี่ยนกับ เครื่องเพชรพลอย กำยาน และขี้ผึ้ง  สินค้าจากเชียงใหม่กระจายไปยังต่างประเทศโดยมีอยุธยาเป็นพ่อค้าคนกลางผู้รวบรวมสินค้าและกระจายสินค้า ทั้งนี้เชียงใหม่มิได้เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้เองทั้งหมด แต่เป็นการรวบรวมสินค้าจากรัฐไททางตอนบนแสดงให้เห็นบทบาทของเชียงใหม่ในการเป็นศูนย์กลางการรวบรวมสินค้าจากรัฐทางตอนเหนือและจีนส่งไปยังอยุธยาอีกต่อหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาสินค้าที่ส่งออกไปอยุธยา มีทองคำ เพชรพลอย และชะมดเชียง  ที่มิได้หาได้ในอาณาจักร สินค้าที่มาจากภายนอกโดยเฉพาะจากจีน สร้างความมั่งคั่งให้แก่อยุธยาอย่างมาก เนื่องด้วยจีนไม่ทำการค้าขายโดยตรงกับชาติตะวันตก อยุธยาจึงได้เปรียบที่ยังสามารถค้าขายผ่านระบบบรรณาการ ทำให้สามารถนำสินค้าจีนออกมาค้าขายกำหนดราคาได้เอง
.          ในเรื่องการค้าขายสินค้าของป่า สันนิษฐานว่าส่วนใหญ่พ่อค้าเป็น “คนนอก” เป็นฝ่ายเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าที่เชียงใหม่ ดังพบการกล่าวถึงพ่อค้ากรุงศรีอยุธยาเดินทางเข้ามาค้าถึงเมืองฮอด  รวมถึงเอกสารของฮอลันดาสมัยอยุธยาช่วง พ.ศ.๒๑๕๑ – ๒๑๖๓ ยังกล่าวถึงพ่อค้าชาวฮอลันดาส่งคนขึ้นมาดูสินค้าที่เชียงใหม่เนื่องจากเชียงใหม่มีกำยานชนิดดี  
.          เมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลาที่สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง เราอาจมองภาพความสัมพันธ์ของล้านนากับการค้าทางทะเลได้เป็น ๒ เส้นทาง คือ อยุธยา และเมืองท่าทางทะเลในเขตหัวเมืองมอญหรือเมืองแถบอ่าวเมาะตะมะ ในช่วงต้นของอยุธยาล้านนาน่าจะมีปฏิสัมพันธ์ทางการค้ากับอยุธยาเป็นหลัก แต่หลังจากช่วง พ.ศ.๒๑๐๑ ที่พม่าสามารถยึดครองล้านนาได้ สินค้าจากล้านนาที่เคยค้าขายกับอยุธยาน่าจะถ่ายเทเปลี่ยนจากอยุธยาเป็นเมาะตะมะหรือหัวเมืองมอญ ในห้วงเวลาดังกล่าวปรากฏเรื่องราวการเดินทางของพ่อค้าชาวลอนดอน ชื่อ ราล์ฟ ฟิตช์ ซึ่งเดินทางจากหงสาวดีมาเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๑๒๙ โดยใช้เวลาเดินทาง ๒๕ วัน โดยระหว่างเดินทางพบพ่อค้าฮ่อจำนวนมาก เดินทางจากยูนนานมาเชียงใหม่โดยนำ ชะมดเชียง ทอง เงินมาเป็นจำนวนมาก  การเดินทางเข้ามาของราล์ฟ ฟิตช์ แสดงให้เห็นการเชื่อมโยงทางการค้าของเชียงใหม่และหงสาวดีซึ่งเป็นหัวเมืองมอญที่เจริญขึ้นอย่างมากในช่วงเวลานั้น  เมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของเมืองและอาณาจักรจะพบว่าพื้นที่ของเชียงใหม่และล้านนามีความได้เปรียบประการหนึ่งในเรื่องการค้า คือ ตั้งอยู่ใกล้จีน การที่พม่าสามารถผนวกล้านนาได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนได้เท่ากับเป็นการเปิดเส้นทางการค้าไปยังจีนโดยมีล้านนาเป็นสถานีการค้าสำคัญ ความสำคัญของเส้นทางการค้าดังกล่าวเป็นที่รับรู้ของพ่อค้าและนักสำรวจยุคหลังราวพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางการค้าเดิมและพยายามเชื่อมโยงเมืองชายฝั่งทะเลของพม่ากับพื้นที่ของจีน ซึ่งถือเป็นตลาดการค้าในฝันที่ชาวตะวันตกรียกว่า “China market”   ดังจะเห็นได้จากการที่โฮลท์ ฮันเลต์ นักสำรวจเส้นทางรถไฟชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางมาสำรวจดินแดนทางตอนเหนือของไทย ได้เคยวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างชายฝั่งทะเลของพม่ากับดินแดนตอนใต้ของจีน
.          จากบันทึกของนิโกลาส แซร์แวส ที่บันทึกเรื่องประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองของสยามในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการสินค้าที่พ่อค้าต่างชาติหาซื้อจากอยุธยาโดยระบุที่มาของสินค้า พบว่าสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์จากป่าถูกนำเข้าจากลาว ขอม ตังเกี๋ย ญวน บอร์เนียว และติมอร์ ซึ่งไม่พบการกล่าวถึงการนำเข้าจากล้านนา สะท้อนให้เห็นว่าช่วงระยะเวลาดังกล่าวอยุธยากับล้านนาอาจมิได้มีการค้าขายกัน ซึ่งน่าจะมาจากการที่ล้านนาในช่วงเวลานั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าแล้ว สินค้าของล้านนาที่เคยค้าขายกับอยุธยาน่าจะถ่ายเทไปยังเมืองท่าของพม่าบริเวณอ่าวเมาะตะมะ ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้
.          ในแง่มุมทางสังคม การค้าขายระหว่างรัฐที่มีของป่าเป็นสินค้าสำคัญ ได้สร้างบทบาทให้แก่กลุ่มชนและสังคมผู้ผลิต(ผู้หา)สินค้าเหล่านั้นอย่างมาก  ในบริเวณสันเขาของภาคเหนือ ตั้งแต่เขตพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ต่อเนื่องลงไปถึงจังหวัดตาก พบร่องรอยหลักฐานพิธีกรรมการฝังศพโบราณรูปแบบหนึ่งบนยอดเขาลักษณะเป็นเนินดินฝังศพรูปวงกลม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เรียกหลักฐานลักษณะนี้ว่า “วงตีไก่ หรือ หลุมฝังศพลั๊วะ”  เนินดินฝังศพรูปวงกลมเหล่านี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่น้อยกว่า ๑๐ เมตร ไปจนถึง ๓๐ เมตร เนินดินฝังศพมีลักษณะเป็นเนินดินรูปวงกลม ด้านบนค่อนข้างแบน ตรงกลางเนินมีศพฝังอยู่ข้างใต้ ฝังร่วมกับสิ่งของอุทิศหลายประเภท ส่วนมากเป็นภาชนะดินเผาประเภทจานชามกระเบื้องจากแหล่งเตาเผาสุโขทัย ล้านนา พม่า เวียดนาม และจีน ซึ่งกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๒  การพบหลักฐานที่เป็นของแปลกจากต่างถิ่นที่มาจากจีน ซึ่งของเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ศูนย์กลางอำนาจมอบให้ชนชั้นนำในพื้นที่ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ในทางสังคมการปกครอง รวมถึงแสดงสถานะทางสังคมแก่ชนชั้นนำในพื้นที่ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมทรัพยากรบนพื้นที่สูง  ความสำคัญของกลุ่มคนบนพื้นที่สูงในล้านนาในฐานะผู้ควบคุมทรัพยากรจากป่ายังดำรงอยู่ต่อเนื่องแม้กระทั่งล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ดังจะเห็นจากพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีเนื้อความกล่าวถึงการที่ราชสำนักส่งคนไปเกลี้ยกล่อมชาวลั๊วะหรือละว้า ที่เมืองลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เพื่อให้เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกษัตริย์อยุธยาจะแต่งตั้ง มอบตำแหน่งและพระราชทานของให้เป็นการตอบแทน โดยแลกกับการที่ผู้นำชาวลั๊วะเหล่านี้ต้องเป็นผู้ควบคุมพื้นที่บนภูเขาให้แก่อยุธยา
.          เมื่อล้านนาตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า ล้านนาเปลี่ยนมาดำรงตนในฐานะสถานีการค้าสำคัญที่เชื่อมโยงการค้าจากจีนสู่พม่า และเชื่อมโยงยังภูมิภาคอื่นของโลกโดยมีอ่าวเมาะตะมะเป็นจุดกระจายสินค้าแทนอยุธยาและอ่าวไทย การค้าส่งออกของล้านนายังคงดำรงความสำคัญมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ราวกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๕ โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ ไม้สัก ซึ่งถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ผ่านบริษัททำไม้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานในพื้นที่ล้านนา เช่นที่ เมืองเชียงใหม่ ลำปาง แพร่ ฯ จวบจนล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน บทบาทการค้าการส่งออกในฐานะอาณาจักรของล้านนาจึงได้ยุติลง
                -----------------------------------------------------
- อ้างอิง -
๑. รัตนาภรณ์ เศรษฐกุล. ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจวัฒนธรรมแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน,หน้า ๘๗.
๒. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
๓. อุษณีย์ ธงไชย. ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและลานนาไทย พ.ศ.๑๘๓๙-๒๓๑๐, หน้า ๑๔๑.
๔. ชะมดเชียง คือ คือไขมันในต่อมกลิ่นของชะมด (ส่วนที่ใช้ทำยาได้มาจากไขมันในต่อมกลิ่น) ซึ่งต่อมนี้จะมีเฉพาะในชะมดตัวผู้เท่านั้น โดยจะอยู่ระหว่างใต้สะดือกับอวัยวะเพศตัวผู้ มีลักษณะเป็นรูปกลมรีคล้ายรูปไข่ มีสีน้ำตาล มีขนสั้นห่อหุ้มอยู่ ตรงกลางจะมีรูเพื่อขับสารประเภทไขมันออกมา ซึ่งเป็นสารสีน้ำตาลเข้ม เหนียว และมีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ทำเป็นยาได้เรียกว่า “ชะมดเชียง” โดยชะมดเชียงที่ดีจะต้องมีกลิ่นฉุนจัด ผิวเป็นมัน เนื้ออ่อนนิ่มและเป็นสีน้ำตาลไม่ปนสีดำ ปัจจุบันตัวยาชนิดนี้หาได้ยากและมีราคาแพง (แพงมากกว่า “ชะมดเช็ด“) หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ชะมดเชียง”.  หน้า ๑๙๔.
๕. เอิบเปรม วัชรางกูร และ วรวิทย์ หัสภาค. มรดกใต้ท้องทะเลไทย, หน้า๗๑.
๖. เมืองฮอด คือ เมืองสำคัญในอาณาจักรล้านนา ห่างจากเมืองเชียงใหม่ไปทางใต้  ๑๔๓  กิโลเมตรโดยประมาณ เป็นจุดแวะพักและขนถ่ายสินค้าจากตอนเหนือและอาณาจักรทางตอนใต้ (ปัจจุบัน คือ เขตพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)  
๗. นันทา สุตกุล, แปล, จดหมายเหตุการณ์เดินทางของ ราล์ฟ ฟิตช์ และจดหมายเหตุของ วิละภาเคทะระ เรื่องทูตลังกาเข้ามาในประเทศสยาม, หน้า๔๑.
๘. แดเนียล แมคกิลวารี, ภาคพายัพแสนไกล, หน้า๓.
๙. พิพิฒน์ กระแจะจันทน์,ของหรูหายากจากบนดอย,หน้า๕๓.




























(จำนวนผู้เข้าชม 8935 ครั้ง)