...

แหล่งฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำอิงที่เมืองโบราณเวียงลอ จังหวัดพะเยา
องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์
เรื่อง “แหล่งฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำอิงที่เมืองโบราณเวียงลอ จังหวัดพะเยา”
โดย นายพลพยุหะ ไชยรส นักโบราณคดีปฏิบัติการ
        กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
. ก่อนการสร้างเมืองโบราณเวียงลอในพุทธศตวรรษที่ 19 พื้นที่บริเวณดังกล่าวปรากฏการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาก่อนโดยพบแหล่งฝังศพบริเวณใต้ชั้นกำแพงเมืองเวียงลอในชั้นคันดินสันดอนริมแม่น้ำอิงเก่า จากการขุดค้นทางโบราณคดี โครงการขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมืองโบราณเวียงลอ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 พบหลุมฝังศพจำนวน 6 ตำแหน่ง ในพื้นที่ดังกล่าว ในที่นี้จะกล่าวถึงหลุมขุดค้นที่ 1 เนื่องจากเป็นหลุมที่มีชั้นดินอยู่ระดับเดียวกันกับชั้นดินที่มีการเก็บตะกอนดินไปกำหนดหาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ จากการขุดค้น พบร่องรอยการประกอบกิจกรรมการฝังศพในชั้นดินวัฒนธรรมที่  3  ซึ่งเป็นชั้นดินก่อนการก่อสร้างกำแพงเมืองเวียงลอ โดยเริ่มปรากฏหลักฐานกระดูกขาและกรามของสัตว์ขนาดใหญ่  ต่อมาพบหลักฐานกลุ่มกองเปลือกหอย 2 ฝา  ลักษณะคล้ายหอยน้ำจืดที่ปรากฏในท้องถิ่นปัจจุบัน วางตัวทางด้านทิศตะวันตกของกลุ่มกระดูกสัตว์ ในแนวเดียวกัน   และในระดับนี้ได้ปรากฏร่องรอยของขอบหลุมฝังศพรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างตั้งแต่  22-45  ซม. วางตัวในแนวตะวันออก –  ตะวันตก โดยปรากฏเป็นกลุ่มดินร่วนเหนียวสีน้ำตาลดำมีเศษถ่านและเศษภาชนะดินเผาปะปน  
. นอกจากนี้ยังพบกลุ่มเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินวางตัวเรียงกันในแนวทิศตะวันออก –  ทิศตะวันตก กลุ่มโบราณวัตถุซึ่งประกอบด้วยกระดูกท่อนขา ซึ่งวางตัวในแนวทิศตะวันออก –  ตะวันตก  ใกล้กับตำแหน่งกลุ่มภาชนะดินเผา  นอกจากนั้นใต้กลุ่มภาชนะดินเผาดังกล่าวยังปรากฏเครื่องมือเหล็กไม่ทราบหน้าที่ใช้งาน  1  ชิ้น  ถัดจากกลุ่มภาชนะไปทางตะวันออก พบเครื่องมือเหล็กคล้ายมีด 1 ชิ้น  ใต้เครื่องมือเหล็กเป็นกลุ่มของห่วงสำริดขนาดต่าง ๆ วางเรียงซ้อนเหลื่อมกันในแนวตะวันออก –  ตะวันตก ภายในห่วงพบโครงกระดูกแขนอยู่ในสภาพเริ่มผุสลายอย่างมาก ถัดจากกลุ่มกำไลสำริดไปทางตะวันออก พบเครื่องมือเหล็กอีก 1 ชิ้น  ถัดจากเครื่องมือเหล็กชิ้นดังกล่าวไปทางทิศใต้ พบห่วงสำริดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.4  ซม. 1 วง  และถัดไปทางด้านทิศใต้พบห่วงสำริดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4.1-1.3 ซม.วางซ้อนกันอยู่อีก 2 วง
. จากการศึกษาพบว่าโบราณวัตถุทั้งหมดวางตัวเรียงกันในแนวทิศตะวันออก –  ตะวันตก  จากร่องรอยของชิ้นส่วนกระดูกท่อนแขนที่พบสอดอยู่ในกำไล  และกระดูกท่อนขาที่พบอยู่บริเวณด้านตะวันตกของกลุ่มภาชนะดินเผา  สันนิษฐานว่าโครงกระดูกนี้ มีการปลงศพ โดยวางตัวในแนวตะวันออก – ตะวันตก หันส่วนศีรษะไปทางทิศตะวันออก  โดยกลุ่มเครื่องกำไลสำริดและเครื่องมือเครื่องใช้เหล็กจำนวน 3 ชิ้นที่พบบริเวณส่วนตะวันออกหรือส่วนบนของโครงนั้นพบบริเวณฝั่งเหนือหรือด้านขวาของโครงกระดูก ยกเว้นต่างหู (?) จำนวน  2 ชิ้น ซึ่งพบในตำแหน่งกึ่งกลางค่อนไปทางด้านซ้ายของโครงกระดูก
. เนื่องจากสภาพที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีอยู่ใกล้กับแม่น้ำอิงดินจึงมีความชื้นสูงมากทำให้กระดูกเสื่อมสภาพและถูกย่อยสลายไปมากกว่าร้อยละ 80 และหลุมศพถูกรบกวนไปแล้วครั้งหนึ่ง (โครงกระดูกพบเพียงบางอวัยวะเช่นแขนและต้นขา อีกทั้งมีการวางของอุทิศกระจัดกระจาย) ไม่สามารถจำแนกเพศหรืออายุได้ โครงกระดูกที่หลงเหลือบ่งชี้ว่า การฝังศพแบบแนวราบ ของอุทิศเช่นเครื่องประดับจะวางไว้กับตำแหน่งของอวัยวะที่ใช้งานของนั้นๆ เช่น กำไลสำริดใส่ไว้ที่แขน เครื่องมือเหล็กวางไว้ที่แขน เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งวางที่บริเวณปลายเท้า ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาที่มีการทุบให้แตกและเครื่องมือเหล็ก สำหรับเครื่องมือเหล็กไม่มีรูปแบบการวางในทิศทางที่แน่นอน
. จากตรวจสอบชั้นดินด้านตัด (Section) พบว่ามีการขุดหลุมฝังลึกประมาณ 60 เซนติเมตร จากพื้นผิวดิน หลุมฝังมีลักษณะสอบเข้าคล้ายรูปตัววี (V shape) ปรากฏร่องรอยการฝังกลบปากหลุมอย่างตื้นๆ ส่วนด้านแปลน (Plan) ในระดับชั้นดิน พบว่าหลุมฝังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ยาว 180 เซนติเมตร สันนิษฐานว่ามิใช่ขนาดและดินฝังกลบหลุมเดิม ร่องร่อยผิดวิสัยดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากการขุดรบกวนในสมัยหลัง ชั้นดินดังกล่าวอยู่ในระดับความลึกของชั้นดินและองค์ประกอบดินเทียบเคียงได้กับชั้นดินทางโบราณคดี 3 ในหลุมขุดค้นที่ 13 ที่กำหนดค่าอายุสัมบูรณ์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อนอยู่ที่ 788±24 ปีมาแล้ว (หรือระหว่าง พ.ศ.1752 - 1800) หรือมีการรบกวนหลุมฝังศพดังกล่าวในราวพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 จึงสามารถกำหนดอายุหลุมฝังศพไว้ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18
. ในบริบททางประวัติศาสตร์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 เกิดบ้านแปงเมืองขึ้นแล้วบนที่ราบพะเยาและลุ่มน้ำอิงดังปรากฏในตำนานพื้นเมืองพะเยาที่ขุนจอมธรรมผู้สถาปนาเมืองพะเยาเรียกประชุมเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งพันนา ความว่า “...ทั้งหัวเมืองนอกมีต้นว่า เมืองงาว กวาว ชะเอิบ เชียงม่วน สะปง ภาน ควา ออย งิม สะลาว ครอบ เชียงแลง หงาว ลอ เธิง...” หรือในเหตุการณ์ที่ขุนเจืองรวบรวมทัพเพื่อตีเมืองแกวก็มีการเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองลอด้วย ความว่า “...ส่วนท้าวก็ตีกลองเชยยะพละเภรี ป่าวริพลเมืองพยาว แล ซะลาว ลอ เธิง กวาว หงาว...” อย่างไรก็ตามบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลานี้เป็นบ้านเมืองที่ยังคงมีความเชื่อเรื่องผีแบบความเชื่อดั้งเดิมดังนั้นจึงยังพบการปลงศพดังข้างต้นอยู่ การค้นพบหลุมฝังศพที่เวียงลอจึงสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนที่มีการรวมตัวกันเป็นบ้านเมืองขนาดเล็กหรือเป็นสังคมหมู่บ้านเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่มีผู้นำ และมีโครงสร้างและชั้นชนทางสังคม มีการติดต่อกับกลุ่มชนหรือเมืองอื่นๆ รวมถึงมีความเชื่อของตนเองที่เชื่อเรื่องผีอันเป็นศาสนาเก่าแก่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 จึ่งเริ่มมีการเผยแพร่พระพุทธศาสนาเข้ามาในแอ่งที่ราบพะเยา
          ————————————————






















(จำนวนผู้เข้าชม 701 ครั้ง)