...

ลัวะบ้านบ่อหลวง
//ลัวะบ้านบ่อหลวง​ กลุ่มชนผู้ทรงภูมิปัญญา​ด้านการถลุงเหล็ก​รุ่น​สุดท้าย​ของเมืองเชียงใหม่​//
.
เรียบเรียงโดย​ นายยอดดนัย​ สุขเกษม​ นัก​โบราณคดี​ปฏิบัติ​การ​
.
- ลัวะ​ กลุ่มชาติพันธุ์​ที่มีพัฒนา​การทางวัฒนธรรม​มาอย่างยาวนาน​ มีการเคลื่อนไหวทางสังคมปฏิสัมพันธ์​กับกลุ่มชนต่าง​ ๆ​ ในพื้นที่​ภาคเหนือ​ของ​ประเทศไทย​ อย่างน้อยตั้งแต่ก่อนที่พญามังราย​จะสร้างเมืองเชียงใหม่​ขึ้นมาในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษ​ที่​ 19
.
- ข้อมูลจากหลักฐานเอกสาร​ทางประวัติศาสตร์​ พับสา​ "รวมเรื่อง​เมืองเชียงใหม่​: หลักฐานประวัติ​ศาสตร์" ปริวรรตโดย​ สรัสวดี​ อ๋อง​สกุล​ (2559) ได้ระบุว่า​ ราวช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษ​ที่​ 24​ "ลัวะ"​ เป็น​กลุ่มชนที่มีความสำคัญ​ในฐานะผู้ผลิตเหล็ก​ โดยหัวหน้าชุมชนลัวะจะต้องรวบรวมทรัพยากรเหล็กจำนวนมากพร้อมกับเงินตราส่งส่วยให้แก่เมืองเชียงใหม่​ ทำให้ลัวะเหล่านี้จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกเรียกเกณฑ์แรงงาน​
.
- หลักฐานเอกประวัติ​ศาสตร์​ข้างต้นสอดคล้องกับงานศึกษา​ของ​ Hutchinson (1934) ตีพิมพ์​เมื่อ​ พ.ศ.​ 2477 ระบุว่า​ ลัวะบ้านบ่อหลวง​ (ปัจจุบัน​อยู่ใน​พื้นที่​อำเภอ​ฮอด​ จังหวัด​เชียงใหม่)​ ให้ความสำคัญ​กับผีที่ดูแลเหมืองแร่​เหล็ก​  ซึ่งสอดคล้อง​กับงานศึกษา​ของ​ บุญช่วย​ ศรีสวัสดิ์​ (2506) ที่ระบุว่า​ ลัวะบ้านบ่อหลวง​ มีพิธีกรรมฆ่าสัตว์​สังเวยและให้สาวพรหมจารีย์เข้าไปขุดสินแร่เหล็กออกมาถลุง​ ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ​เฉพาะด้านการทำเหล็ก​ ของกลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เป็น​อย่างดี​  
.
- จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของทีมนักโบราณคดี​ สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ในช่วง​ 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า​ กลุ่ม​ชนลัวะบ้านบ่อหลวงได้เลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กไปเมื่อราว​ 80​ ปีมาแล้ว​ อันเนื่องจากการเข้ามาของเหล็กอุตสาหกรรม​สมัยใหม่​ แต่อย่างไรก็ตามยังมีความผูกพัน​กับแหล่งทรัพยากร​ ต้องกลับไปทำพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีบ่อเหล็กที่บ้านแม่โถ​ ในห่วงเวลาทุก​ ๆ 3​ ปี​ สืบมากระทั่งถึงปัจจุบัน​
.
- นอกจากนี้​ การเก็บข้อมูล​หลักฐาน​ทางโบราณคดี​ในพื้นที่บ้านบ่อหลวง​ ยังพบ​ประจักษ์พยานเกี่ยวกับ​กิจกรรม​การทำเหล็กหลายประการ เช่น​ ก้อนแร่​ ทั่งย่อยแร่​ ตูแยร์​ ทั่งตีเครื่องมือเหล็ก​ และก้อนโลหะเหล็ก​ เป็น​ต้น​ ซึ่งมีความเหมือนกันกับหลักฐานที่พบในกลุ่มแหล่งถลุง​เหล็ก​โบราณ​บ้านแม่โถ​ ทั้งในแง่ของวัสดุ​ รูปแบบ​ และเทคนิควิธีการ
.
- จากข้อมูลเชิงมานุษยวิทยา​และเชิงโบราณ​คดีที่กล่าวมาข้างต้น​ จึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐาน​ได้ว่า​ กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง​ เดิมน่าจะเคยตั้งถิ่นฐานชุมชนถลุงเหล็ก​ขนาดใหญ่​อยู่บริเวณ​ยอดดอยบ้านแม่โถเมื่อราว​ 400​ ปีมาแล้ว​ ก่อนที่จะมีการย้ายถิ่นฐานมาที่บ้านบ่อหลวง​ เมื่อราว​ช่วง 200​ -​ 150 ปีที่ผ่านมา​ ตามความทรงจำที่บอกเล่าต่อกันมาของผู้คนในชุมชน
.
- ถึงแม้ปัจจุบัน​กลุ่มชนลัวะบ้านบ่อหลวง​ จะเลิกกิจกรรมการถลุงเหล็กแบบ​โบราณ​ไปแล้ว​ แต่ยังคงมีความผูกพันทางจิตวิญญาณ​กับการทำเหล็ก​ ผ่านพิธีกรรมโบราณ​เฉกเช่น​บรรพชน​ที่กระทำสืบเนื่องมาหลายร้อยปี​ นับเป็นมรดกภูมิปัญญา​อันทรงคุณค่า​สำคัญ​ของดินแดนล้านนา​ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์​สืบไป​
.
- ภาพ​ประกอบภาพแรก คุณลุงเปี้ย​ อายุ​ 90​ ปี​ ทายาทตระกูลถลุง​เหล็ก​ ​ลัวะบ้านบ่อหลวง ที่อยู่​ร่วมในกระบวนการถลุงเหล็ก​แบบ​โบราณ​ครั้งสุดท้ายเมื่อราว​ 80​ ปีมาแล้ว​ ส่วนในมือที่ถืออยู่​ คือ​ ก้อนโลหะเหล็ก​ (Iron​ Bloom)​ ผลผลิต​ที่​ได้​จากการถลุง​ และมีดที่ตีขึ้นจากเหล็ก​ถลุงแบบโบราณ

























(จำนวนผู้เข้าชม 909 ครั้ง)