...

แม่โถ​ ร่องรอยแหล่งโลหกรรมของเมืองเชียงใหม่
//แม่โถ​ ร่องรอยแหล่งโลหกรรมของเมืองเชียงใหม่ ใจกลางเทือกเขาสูง//
#บ่อเหล็กแม่โถ #โบราณโลหะวิทยาดินแดนล้านนา
.
โดย​: นายยอดดนัย​ สุขเกษม​ นัก​โบราณคดี​ปฏิบัติ​การ สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
.
- ในห้วง​ 1-2​ ปีที่ผ่านมา​ ดอยแม่โถ อ.ฮอด​ จ.เชียงใหม่​ เป็นที่รู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวบนยอดดอยสูงที่มีทุ่งหญ้า​สะวันนา​ และวิวทิวทัศน์​ที่​สวยงาม​ แต่รู้หรือไม่​ว่าดอยแม่โถแห่งนี้ยังซ่อนหลักฐาน​ความรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา​ของอดีต​ ในฐานะ​แหล่งผลิตเหล็ก​โบราณ​ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอาณาจักรล้านนาเอาไว้อีกด้วย
.
- การค้นพบดังกล่าว​ เริ่มต้นราวปี​ พ.ศ.​ 2561​ เป็น​ต้นมา​ เมื่อสำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ ได้เบาะแสจากหลักฐาน​ทางประวัติศาสตร์​ จึงได้เข้าไปสำรวจในพื้นที่บ้านแม่โถ​ จนพบกลุ่มแหล่ง​โลห​กรรมโบราณ​ขนาดใหญ่​  ประกอบด้วย​ 1. แหล่งถลุง​เหล็ก​ 2.​ ร่องรอยเหมืองแร่​ และ 3.​ ร่องรอยชุมชนผลิตเหล็ก​ จำนวนรวมไม่ต่ำกว่า​ 15​ แหล่ง​ กระจายตัวอยู่ตามสันเขา​ ครอบคลุมพื้นที่กว่า​ 3 ตารางกิโลเมตร
.
- ในเบื้องต้น​ ผู้ศึกษา​ได้นำตัวอย่างถ่านที่ตกค้างในก้อนตะกรันไปศึกษา​ค่าอายุทางวิทยา​ศาสตร์​ ด้วยวิธี​ AMS​ Dating พบว่า​ มีอายุกิจกรรมอยู่ในช่วงครึ่งหลัง​ของพุทธศตวรรษ​ที่​ 22​ ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์​ร่วมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์​จะพบว่า​ ตรงกับช่วงที่กองทัพพม่าเข้ายึดเมืองเชียงใหม่​ครั้งที่สอง ในปี​ พ.ศ.​ 2157 โดย​ อนอคเปตลุน​ กษัตริย์​ราชวงศ์​ตองอูตอนปลาย​ หรือที่เอกสารล้านนาจดบันทึกในนาม​ "พระเจ้าสุทโธธรรมราชา" (แท้จริงนามของ​ อนอคเปตลุน​ คือ​ มหาธรรมราชา)​
.
- จากขนาดและจำนวนของแหล่งโบราณคดี​ ที่สะท้อนถึงกิจกรรมการผลิตเหล็กในปริมาณมหาศาล​  ประกอบกับค่าอายุทางวิทยา​ศาสตร์​ และเหตุการณ์​ที่เกิดขึ้นทางประวัติศาสตร์​ สามารถตั้งข้อ​สันนิษฐาน​เบื้องต้นได้ว่า​ บริเวณ​บ้านแม่โถ​ น่าจะเป็น​แหล่งผลิตทรัพยากร​เหล็กให้กับเมืองเชียงใหม่มาแล้วแต่เดิม​ ต่อมาเมื่อพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่​ ในครั้งที่​ 2​ สมัยกษัตริย์​อนอคเปตลุน​ ซึ่งมีนโยบายสร้างจักรวรรดิพม่าให้ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับบุเรงนอง​ น่าจะมีความต้องการทรัพยากรเหล็กอย่างมหาศาล​ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มชุมชนถลุงเหล็กขนาดใหญ่​ กระจายตัวทั่วพื้นที่สันเขาล้อมรอบบ่อเหล็ก​แม่โถ​ มีการผลิตเหล็กอย่างต่อเนื่อง​​จนเกิดเป็นชั้นตะกรันทับถมหนาหลายเมตร​ อย่างไรก็ตามบ่อเหล็กแม่โถน่าจะมีการเข้าไปใช้สอยหาทรัพยากรแร่เหล็กต่อมาอีกหลายยุคสมัย​ จนกระทั้งสิ้นสุดเมื่อราว​ 100​ ปีที่ผ่าน​มา​ ตามความทรงจำของกลุ่มคนลัวะบ้านบ่อหลวง
.
- ทั้งนี้ ข้อมูลข้างต้นยังไม่ถือเป็นข้อสรุป​ จำเป็นต้องมีการขุดค้นทางโบราณคดี​ต่อไปในอนาคต​ 
.
- ท้ายที่สุดนี้ ​ในนามของสำนักศิลปากร​ที่​ 7​เชียงใหม่​ ​ขอขอบคุณ​เจ้าหน้าที่อุทยาน​แห่งชาติ​แม่โถทุกท่าน​ กำนันตำบลบ่อหลวง​ กำนันตำบลบ่อสลี​ และองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสลี​ ที่กรุณาให้ควา​มอนุเคราะห์และสนับสนุนการศึกษา​ทางโบราณคดี​ใน​ครั้งนี้​ จนเริ่มเห็นภาพประวัติ​ศาสตร์ที่สำคัญ​ของดินแดน​ล้านนาชัดเจนมากยิ่งขึ้น​ และหวังเป็น​อย่างยิ่งว่า ​จะได้ร่วมกันสร้างสรรค์​องค์​ความรู้​ในโอกาส​ต่อไป


































(จำนวนผู้เข้าชม 966 ครั้ง)