...

เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดพระเจ้าดำ ร่องรอยสุโขทัยในล้านนา










องค์ความรู้เรื่อง " เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์วัดพระเจ้าดำ ร่องรอยสุโขทัยในล้านนา "
โดย สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่
                 พื้นที่ๆเรียกว่า “สบแจ่ม” เป็นบริเวณจุดบรรจบของลำน้ำแม่แจ่มกับแม่น้ำปิง ในเขตอำเภอจอมทอง ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงใหม่  พื้นที่แห่งนี้เป็นเพียงไม่กี่แห่งในเขตวัฒนธรรมล้านนาที่หลงเหลือโบราณสถานในลักษณะ “กลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่” ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ – ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้ดำเนินการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดี และพบข้อมูลสำคัญที่เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของล้านนาและแอ่งที่ราบเชียงใหม่ กล่าวคือ พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่ปรากฏอิทธิพลศิลปกรรมแบบสุโขทัยที่เด่นชัดและเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในเขตวัฒนธรรมล้านนา โดยที่จะขอนำมากล่าวถึงในวันนี้ คือ วัดพระเจ้าดำ 
 .....ถ้าเปรียบ “สบแจ่ม” เป็นมงกุฎศิราภรณ์ล้ำค่าแห่งล้านนาชิ้นใหม่ “วัดพระเจ้าดำ” ก็คงไม่ต่างกับเพชรยอดมงกุฎ ที่ประกาศคุณค่าและความงาม
 ข้อมูลจากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบว่าในเขตวัฒนธรรมล้านนาปรากฏเจดีย์รูปแบบที่มีอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัยไม่มากนัก โดยมากมักปรากฏในลักษณะอิทธิพลทางศิลปกรรมเฉพาะส่วน           ที่ประกอบและผสมผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมล้านนา อาทิ การทำช้างล้อมรอบฐานเจดีย์ หรือการทำส่วนลาดบัวคว่ำซ้อนลดหลั่นกันรองรับองค์ระฆัง อย่างที่ศัพท์ทางประวัติศาสตร์ศิลปะเรียกว่า “บัวถลา”  
 ......แต่โบราณสถานวัดพระเจ้าดำแห่งนี้ ต่างออกไป 
 จากรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ วัดพระเจ้าดำ มิได้นำองค์ประกอบความเป็นสุโขทัยมาเพียงเฉพาะส่วน แต่ได้นำความเป็นสุโขทัยแบบต้นฉบับมาประดิษฐานยังที่แห่งนี้  
         เอกลักษณ์ความเป็นสุโขทัยเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่มีที่ใดเหมือนนั่นคือ “เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์” 
 เจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูมแห่งวัดพระเจ้าดำ ตั้งอยู่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารที่หันหน้าเข้าสู่แม่น้ำปิง เจดีย์องค์นี้นับได้ว่าเป็นเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ที่งดงามที่สุดและมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์แบบต้นฉบับในเมืองสุโขทัยที่สุด เดิมทีในพื้นที่ล้านนาปรากฏเจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ ๒ แห่ง คือ ๑.เจดีย์วัดธาตุกลาง (นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านใต้) ๒.เจดีย์รายประจำมุมของวัดสวนดอก (นอกเมืองเชียงใหม่ด้านตะวันตก) ซึ่งภายหลังถูกก่อครอบสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย ราวก่อนปี ๒๔๗๘ เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ที่กล่าวมาทั้ง ๒ องค์ หากพิจารณาจากลักษณะและสัดส่วน เห็นจะมีเพียงเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ของวัดสวนดอก ที่ดูได้สัดส่วนงดงาม แต่ก็ประดิษฐานอยู่ในฐานะเจดีย์ประจำมุม มิใช่เจดีย์ประฐาน  
 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงอายุสมัยและเนื้อหาประวัติศาสตร์พบว่า เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์น่าจะมีมาแล้วตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนรัชสมัยพระเจ้าลิไท ของสุโขทัย เนื่องจากปรากฏข้อความในจารึกเขาสุมนกูฎ ที่ระบุว่าพระยาลิไทเสด็จไปปิดทองพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ “...ไปอยู่เมืองสองแควบุพระมหาธาตุ...” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นี้ มีมาก่อนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ และได้กลายเป็นรูปแบบหลักของเจดีย์ประธานช่วงสมัยพระเจ้าลิไท ในพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งนี้ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีเหตุการณ์สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการแพร่เข้ามาของอิทธิพลสุโขทัยในล้านนา คือ การที่พญากือนาอาราธนาพระสุมนเถระจากสุโขทัย มาประดิษฐานศาสนาพุทธแบบลังกาวงศ์ในเมืองเชียงใหม่ โดยมีวัดสวนดอกเป็นศูนย์กลาง (จึงปรากฏหลักฐานเป็นเจดีย์บริวารองค์เดิมของวัดสวนดอก ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) นับแต่นั้นรูปแบบทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของสุโขทัยเนื่องในศาสนาก็ได้แพร่หลายสู่ล้านนา จากการพบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ในพื้นที่สบแจ่มนี้ จึงกล่าวได้ว่า แหล่งโบราณคดีสบแจ่มนี้เป็นชุมชนที่มีความสำคัญและเป็นมีขนาดใหญ่ที่สุดที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัยในพื้นที่ล้านนา ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ 
เรียบเรียงโดย นายสายกลาง จินดาสุ  นักโบราณคดีชำนาญการ

(จำนวนผู้เข้าชม 5014 ครั้ง)