...

การศึกษาแหล่งถลุงเหล็กโบราณบ้านแม่ลาน
--- ผู้ศึกษา นายยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีปฏิบัติการ
--- ตามที่ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ ได้สำรวจพบร่องรอยแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้ไม่ต่ำกว่า ๓๐ แหล่ง และมีแนวโน้มว่าจะมีการค้นพบมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างถ่านภายในก้อน  Slag จากแหล่งถลุงเหล็กโบราณสิบดร ไปศึกษาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี  Accelerator mass spectrometry (AMS) dating พบว่ากิจกรรมการถลุงเหล็กที่แหล่งสิบดร มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในช่วงราว ๒,๕๐๐-๒,๗๐๐ปีมาแล้ว ซึ่งถือเป็นค่าอายุแหล่งถลุงโบราณที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในดินแดนล้านนา นั้น
--- เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มแหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่อำเภอลี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่ จึงได้กำหนดแผนงานขุดค้นศึกษาทางโบราณคดี แหล่งถลุงเหล็กโบราณในพื้นที่บ้านแม่ลาน ตำบลแม่ลาน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 
๑) ศึกษาอายุสมัยของเตาถลุงเหล็กโบราณ 
๒) ศึกษากรรมวิธี เทคนิค และรูปแบบเตาถลุงเหล็กโบราณ และ 
๓) ตีความถึงระดับการผลิตของแหล่งถลุงเหล็กโบราณ
--- จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบหลักฐานที่สำคัญดังนี้ 
๑) ฐานเตาถลุงเหล็กโบราณ พบในบริบทดั้งเดิม (in situ) ปรากฏลักษณะเป็นผนังเตาถลุง วัสดุดินเหนียวปั้นเผาไฟ ตั้งแต่ส่วนฐานที่มีช่องระบายตะกรัน จนถึงส่วนช่องเติมอากาศ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙๐ เซนติเมตร 
๒) ก้อนแร่เหล็กวัตถุดิบ (iron ore) เป็นแร่เหล็กชนิด Magnetite ที่ผ่านกระบวนการย่อยให้มีขนาด๒-๓ เซนติเมตร 
๓) ตะกรันจากการถลุงเหล็ก มีทั้งรูปแบบก้อน slag ขนาดใหญ่ที่ค้างอยู่ภายในเตา และรูปแบบน้ำตาเทียนที่ถูกเจาะระบายออกมานอกเตา
และ 
๔) ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดิน (Earthen Ware) เนื้อหยาบ ซึ่งมักพบในแหล่งโบราณโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
--- การวิเคราะห์หลักฐานเบื้องต้น มีข้อสันนิษฐาน ดังนี้
---๑)ประเด็นอายุสมัย จากโบราณวัตถุร่วมที่พบ สันนิษฐานว่าแหล่งถลุงเหล็กโบราณแห่งนี้ น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ไม่ต่ำกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว) แต่ทั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างถ่านตกค้างอยู่ภายในก้อนตะกรัน ที่พบจากการขุดค้น เพื่อส่งไปศึกษาค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธี Accelerator mass spectrometry (AMS) dating เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับอายุสมัยของแหล่งที่ชัดเจนต่อไป
---๒) ประเด็นกรรมวิธี เทคนิค และรูปแบบเตาถลุงเหล็กโบราณ พบว่าเป็นการถลุงเหล็กตามกระบวนการทางตรง (Direct Iron Smelting Process) คือ การถลุงโดยใช้ถ่านและอากาศเติมความร้อนให้กับแร่เหล็ก ทำให้ธาตุเหล็กแยกจากธาตุอื่นๆ และจับตัวเป็นกลุ่มก้อนเหล็ก (Iron Bloom) บริเวณก้นเตาถลุง โดยรูปแบบสันนิษฐานของเตาถลุงมีลักษณะ เป็นเตาถลุงรูปแบบทรงกระบอกตรงมีผนังสูง (Shaft Furnace) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๙๐ เซนติเมตร
---๓) ประเด็นการตีความถึงระดับการผลิต จากการขุดค้น พบร่องรอยของเตาถลุงเหล็กขนาดใหญ่ทับซ้อนอยู่ในหลุมขุดค้นไม่ต่ำกว่า ๘ เตา โดยเตาถลุงมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๗๐-๙๐ เซนติเมตร เบื้องต้นจึงสันนิษนิษฐานว่าการถลุงเหล็กในพื้นที่ดังกล่าว น่าจะสร้างผลผลิตเป็นเหล็กในปริมาณค่อนข้างมากเพื่อแลกเปลี่ยนกับดินแเนภายนอก แต่อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อคำอธิบายที่ชัดเจนต่อไป
--- ปล. การศึกษาครั้งนี้ ถือเป็นค้นพบและสร้างองค์ความรู้ครั้งสำคัญ เกี่ยวกับพัฒนาทางวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย จากยุคสมัยโลหะสู่สมัยการสร้างบ้านแปงเมืองในดินแดนล้านนา ทั้งนี้ทีมงานกลุ่มโบราณคดี จะมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียด เพื่อสร้างความกระจ่างต่อไปในอนาคต

































(จำนวนผู้เข้าชม 1429 ครั้ง)