...

ผลการขุดทางโบราณคดีของบ้านเขียว
หายไปรวบรวมข้อมูลทางโบราณคดีซะหลายวัน วันนี้แอดมินกลับมาตามสัญญาที่เคยบอกว่าจะมาเล่าให้ทุกคนฟังถึงผลการขุดทางโบราณคดีของบ้านเขียว (อาคารป่าไม้ ภาคแพร่) ค่ะ  อาจจะดูเป็นวิชาการซักนิด แต่ถ้าคิดซะว่ากำลังดูนิยายสืบสวนอยู่ละรับรองเข้าใจได้ๆไม่ยาก และสนุกไม่แพ้กันเลยนะคะ แต่วันนี้ตกลงกันก่อนว่าเราจะลองสมมุติตัวเองเป็นนักสืบดู.....ไม่ได้สืบหาฆาตกรที่ไหน แต่เราจะสืบอดีตไปพร้อมๆกันค่ะ
 การขุดทางโบราณคดีครั้งนี้เรามีเป้าหมายเพื่อหาพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของอาคารว่ามีรูปแบบดั้งเดิมและมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับการวิเคราะห์ทางสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบไม้ส่วนต่างๆของอาคารที่คัดแยกไว้
 เราได้ทำการขุดตรวจเป็นร่องยาวผ่ากลางอาคารทั้งแนวกว้างและแนวยาว โดยหลุมขุดของเราจะผ่าให้คร่อมแนวฐานเสาเพื่อจะได้เห็นร่องรอยการสร้างฐานรากอาคาร จากการขุดทางโบราณคดีเราพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า อาคารในสมัยแรกสุดที่สร้างมีขนาดเล็กกว่าที่เห็นในปัจจุบัน อาจเป็นอาคารชั้นเดียว เนื่องจากพบบันไดทางขึ้นเพียง 2 ขั้นบันได อาคารมีมุขยื่นออกมาด้านหน้าไม่มากนัก (ยื่นออกมาทางทิศเหนือ) เนื่องจากพบฐานเสาที่รับหลังคามุข ๒ ช่วงเสา ตัวอาคารมีปีกอาคารขยายออกไปทั้งด้านซ้ายและขวา (ตะวันออกและตะวันตก) (แผนผังคล้ายตัว T ที่มีฐานสั้น) อาคารเดิมน่าจะมีระบบฐานรับน้ำหนักเป็นฐานก่ออิฐและมีไม้เป็นเสาหรือคานรับด้านบนที่เป็นพื้นภายในและตัวอาคาร  
 ทั้งนี้จากชั้นดินขุดตรวจในพื้นที่อาคารเราพบความน่าสนใจคือ เราพบชั้นดินตะกอนทรายแม่น้ำทับถมบนฐานเสาเป็นความหนาประมาณ 20-30 เซนติเมตร และพบหลักฐานที่สัมพันธ์กันคือ การก่อผนังอิฐปิดพื้นที่ระหว่างฐานเสาแต่ละต้น (นึกถึงภาพประมาณว่าถ้าเรามีบ้านเป็นเสา ใต้ถุนโล่ง พื้นที่ระหว่างเสาจะถูกก่ออิฐเชื่อมต่อปิดทึบทั้งหมด) รวมถึงพบดินถมที่อยู่เหนือจากชั้นตะกอนทรายน้ำท่วม เมื่อประมวลเข้าด้วยกันจึงบอกเล่าเรื่องราวได้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ โดยน้ำได้พัดพาตะกอนทรายมาทับถมพื้นที่เป็นจำนวนมาก ผู้ใช้งานอาคารจึงดำเนินการ 2 สิ่งพร้อมกัน คือ ทำการก่อผนังอิฐรอบเชื่อมต่อรอบฐานเสา และทำการถมปรับดินภายในอาคารให้สูงขึ้นแล้วทำการปูอิฐปิดพื้นด้านบนที่เป็นพื้นใช้งานภายในอาคาร ซึ่งน่าจะมีเหตุผลมาจากการพยายามยกอาคารให้สูงขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ซึ่งการดำเนินการนี้ยังอยู่ในรูปแบบแผนผังเดิมของอาคาร ทั้งนี้หลักฐานในบริเวณที่ใกล้กันพบหลักฐานสำคัญอีกประการ คือ บริเวณฐานอาคารที่เคยเป็นฐานเสาเดิม มีฐานเสาซีเมนต์ที่มีการเสริมเหล็กทับลงไปบนฐานเสาเดิม (ในบริเวณฐานเสาเดิมที่ตั้งอยู่รอบอาคารและกลางอาคารพบลักษณะการนำฐานเสาใหม่ทับลงบนฐานเสาเดิมในทุกจุด) ซึ่งหลักฐานดังกล่าวสัมพันธ์กับการขยายปีกด้านขวาและซ้ายของอาคารออกไปอีก 1 ห้อง จึงสรุปได้ว่า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมอาคาร โดยสร้างปีกด้านซ้ายและขวาของอาคารเพิ่มและได้เปลี่ยนระบบการรับน้ำหนักของเสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นภาพถ่ายเก่า 2 ชิ้นประกอบ  คือ ภาพถ่ายทางอากาศของวิลเลียม ฮันท์ ในปี 2487 และภาพถ่ายเก่าบริเวณด้านหน้าอาคาร ปี 2498 ที่พบผังอาคารสอดคล้องกับที่ได้กล่าวมานี้ จึงสรุปโดยคร่าวๆได้ว่า ผังอาคารและระบบรับน้ำหนักในลักษณะดังกล่าว เป็นการทำขึ้นเพื่อรองรับการเป็นอาคาร 2 ชั้น ซึ่งมีมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2487 เป็นอย่างน้อย  




















(จำนวนผู้เข้าชม 732 ครั้ง)